มหิดลเผยผลการศึกษาสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่แล้ว
มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลการศึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ มีผลต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมระดับต่ำ ชี้ ไทยต้องพึ่งพาทางเลือกที่หลากหลาย นายธีระพงศ์ สันติภพ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งเป็นการศึกษาบนพื้นฐานการก่อสร้างจริง ร่วมกับนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย อาทิ นายศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายปิยะวัฒน์ พรหมรักษา นักวิจัยจากสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยพบว่า โครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทั้งบนบกและในน้ำ อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีการกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยของชุมชน พบว่า มีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นแล้ว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. จะต้องควบคุมกระบวนการผลิตไฟฟ้า การติดตามตรวจสอบคุณภาพ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้า
ทั้งนี้ นายธีระพงศ์ กล่าวว่า ในมุมมองของนักวิชาการ พลังงานในประเทศไทยควรมีทางเลือกที่หลากหลายในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะหากพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ในอนาคตอาจเกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้