กิตติรัตน์ โต้ ประยุทธ์ ย้ำ จำนำข้าว-รถคันแรก ประชาชนได้ประโยชน์
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊คส่วนตัว ตอบโต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณี "โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล" และ "โครงการรถยนต์คันแรก" ระบุว่า ด้วยความประหลาดใจในความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมากต่อ โครงการทั้งสอง ซึ่งผมคาดเดาว่าที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะท่าน ได้รับฟังข้อมูลที่บิดเบือนจากทีมเศรษฐกิจชุดก่อน ที่ผมเคยให้ฉายาว่า "รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง" ซึ่งก็เป็นชุดที่ถูกท่านปลดออกไปหมาดๆ การถอดทีมเศรษฐกิจชุดก่อนออกไปนั้นน่ะถูกต้องแล้วครับ เพราะไม่มีฝีมือในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ให้ประเทศสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักทางเศรษฐกิจ 3 ประการ อันได้แก่ (1) การเจริญเติบโต (2) ความมีเสถียรภาพของราคา และ (3) การกระจายรายได้ของประชาชน แล้วใช้วิธีแก้ตัว ด้วยการเอาแต่โยนความผิดให้รัฐบาลก่อน จนเกิดความเข้าใจผิดอย่างฝังใจมาจนถึงวันนี้ ผมจึงขอให้ความกระจ่าง ในทั้งสองประเด็น ดังนี้นะครับ
"โครงการรับจำนำข้าวเปลือก" เป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ที่มุ่งดูแลชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังที่กำลังผุกร่อนของชาติ โดยมีจำนวนชาวนาที่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของโครงการฯ จำนวนถึงกว่า 3.7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นประชากรกว่าร้อยละ 23 ของประชากรทั้งประเทศ การรับจำนำข้าวในราคาที่ถูกกล่าวหาว่าสูงเกินสมควรนั้น ถือว่าไม่สูงเลยเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิต และรายได้สุทธิ ที่พวกเขาชาวนาผู้มีพระคุณของเราควรได้รับ แม้ว่า นโยบายสาธารณะที่สำคัญนี้จะต้องจัดสรรงบประมาณรายปี เข้าชดเชยโครงการฯ ที่ดูเหมือนจะมากสักหน่อย ก็ยังอยู่ในกรอบเพียงประมาณร้อยละ 5 ของงบประมาณประจำปีเท่านั้น จึงเป็นโครงการที่คุ้มค่าเพราะสามารถช่วยกลุ่มคนรายได้น้อยที่สุดในภาคเกษตรกรรม ได้ถึงร้อยละ 23 ให้พอลืมตาอ้าปากได้ ตัวเลขห้าแสนล้านที่ถูกหยิบขึ้นมากล่าวอ้างราวกับว่าเป็นภาระความเสียหายนั้นน่ะ แท้ที่จริงเป็นเพดานเงินหมุนเวียน ที่ใช้ดูแลโครงการฯ มาแล้วถึง 5 ฤดูการผลิต
โดยยังมีข้าวในคลังที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไป การระบายข้าวที่มีความล่าช้าเกินสมควรจนเกิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มเติมขึ้นมานั้น รัฐบาลนี้ควรตรวจสอบการดำเนินงานว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้การระบายข้าวของโครงการฯ มีความล่าช้าเป็นอย่างมากในช่วงระยะเวลาปีเศษที่ผ่านมา และเดาว่าทีมเศรษฐกิจชุดเดิมคงไม่เคยใส่ใจที่จะอธิบายถึงประโยชน์ และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากกลไกของ "ตัวทวีคูณ (Multiplier Effect)" ผ่านหลักการ "การบริโภคเมื่อรายได้ดีขึ้น (Marginal Propensity to Consume)" ทำให้เศรษฐกิจรวมของประเทศ ขยายตัวได้ปีละกว่า 3 แสนล้านบาทในปี 2555 ถึงปี 2556 หรือคิดเป็น ร้อยละ 2.7 ถึง 2.8 ของ GDP ของประเทศ ซึ่งแปลว่าผู้คนทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจล้วนได้รับประโยชน์โดยถ้วนทั่ว โครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นโครงการที่ดี และมีความคุ้มค่าทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม...ภายใต้การบริหารการเงินและการคลังที่มีวินัยอย่างดี ทั้งในประเด็นระดับหนี้สาธารณะ และการบริหารงบประมาณของรัฐบาล
สำหรับ "โครงการรถคันแรก" นั้น ผมเคยอธิบายแล้วหลายครั้ง ทั้งในช่วงที่ยังอยู่ในหน้าที่ รัฐมนตรีคลัง และเมื่อหมดหน้าที่แล้ว เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่เมื่อยังคงมีความเข้าใจผิดอยู่ ผมก็มีหน้าที่ต้องอธิบายอีกครั้ง "โครงการรถคันแรก" นอกจากจะช่วยส่งเสริมโรงงานประกอบรถยนต์ ขนาดคันเล็กๆ ที่ประหยัดการใช้พลังงานให้ลงหลักปักฐานในประเทศไทย แทนที่จะยกขบวนไปอยู่ประเทศอื่นหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แล้ว ยังช่วยให้ผู้คนจำนวนหนึ่งสามารถมีรถยนต์ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตเป็นของตนเองได้ในราคาสุทธิที่ไม่สูงนัก ด้วยการที่รัฐ มอบคืนภาษีสรรพสามิต ที่ผู้ซื้อรถเป็นคันแรกของชีวิต และต้องเป็นรถขนาดเล็กสมแก่ฐานะอันไม่ฟุ่มเฟือยเท่านั้น ให้ได้รับคืนภาษีฯ ในจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท จากค่าภาษีฯ ที่ตนเองชำระไว้เต็มจำนวนเมื่อแรกซื้อ กลับคืนไปเมื่อถือครองใช้ประโยชน์ของรถครบหนึ่งปีเต็ม ไม่นำไปขายต่อให้กับคนอื่น ภาษีที่เสียดายหนักหนานั้นน่ะ ไม่ใช่เงินภาษีของกองกลางที่ไหนสักหน่อยครับ ก็ภาษีของผู้ซื้อรถเองที่จ่ายมาให้รัฐ เมื่อตัดสินใจซื้อรถ ตามโครงการฯ รัฐบาลก็เอาเงินค่าภาษีสรรพสามิตของเขาดังกล่าว มาถือรอข้ามปีเพื่อดูใจว่า คนซื้อฯ ซื้อรถไว้ใช้เองจริง มิได้นำไปขายต่อเอากำไรพิเศษ กับใครทั้งนั้น
ขออธิบายให้หายข้องใจอีกด้านว่า โดยหลักการแล้ว ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยเท่านั้น หากเรายอมรับว่ารถคันเล็กๆ ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย เราก็ไม่ควรไปเก็บภาษีคนซื้อ แต่รัฐบาลในเวลานั้นเห็นว่าควรค่อยๆ ทำเป็นขั้นเป็นตอน แทนที่จะยกเลิกภาษีสรรพสามิตรถคันเล็กๆ ไปเสียเลย ก็ให้ดำเนินการ แบบมีเงื่อนไขว่าเป็นผู้ใช้รถจริง ไม่ใช่ผู้ค้ารถ และมีการซื้อไปเพื่อใช้เพียงคันเดียว มิใช่มีใช้กันคนละหลายคันจนล้นเหลือเกิินแก่ความสมถะอันสมควร และเมื่อรัฐบาลรับภาษีสรรพสามิต ของพวกเขามาเข้าคลังไว้เป็นปี ถึงคราวจ่ายคืนก็ย่อมต้องตั้งงบประมาณประจำปีของปีถัดไปจ่ายคืนค่าภาษีสรรพสามิต ของเขา กลับไป อย่าไปเสียดายเลยครับ เราไม่ควรเก็บมาตั้งแต่แรกเสียด้วยซ้ำ คนเขาซื้อรถเล็กๆ เป็นครั้งแรกในชีวิต ไม่ใช่ความฟุ่มเฟือยหรอกครับ ถ้าฟุ่มเฟือยจริง ต้องมีหลายคัน แต่ละคัน หรูๆ หราๆ
ท่านนายกฯ คงเข้าใจผิดคิดว่ารัฐบาลต้องไปเอารายได้ภาษีจากกองกลางมาจ่ายให้คนซื้อรถคันแรก ตามโครงการฯ จนคนซื้อฯ เหล่านั้นเปรมปรีดิ์ ขอย้ำนะครับ เงินที่คืนเป็นเงินของเขาที่รัฐเก็บมาทั้งๆ ที่ไม่ควรต้องเก็บ "ไม่มีใครหรอกครับที่มีความอุตสาหะ ไปซื้อรถคันแรกมาจอดไว้ เพียงเพื่อหวังจะเอาเปรียบรัฐบาลด้วยการได้รับเงินของตนเองคืน"
พวก "รำไม่ดีโทษปี่โทษกลองด้อยความสามารถ" ถูกปลดออกไปแล้ว ก็ดีแล้ว และ ควรจะลบความทรงจำที่ถูกบิดเบือนเอาไว้โดยทีมเดิม ออกเสียจะได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ถูกทาง ด้วยความสามัคคีปรองดอง อย่ากลายไปเป็น "รำเสียเอง โทษเสียเอง" เลย เพราะทุกครั้งที่โทษผิดๆ ผมย่อมต้องโต้เถียง เช่นเดียวกับที่ผมต้องโต้เถียงทีมเศรษฐกิจเดิม ในทุกครั้งที่โทษกันผิดๆ อย่างไม่สมควร