ร้องไห้หนักมาก...ค้นหาคำตอบที่แท้จริงสาเหตุที่คุณ "โคตรอ่อนไหว" มากกว่าคนอื่น
อารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ผู้อื่นไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดอย่างถ่องแท้ บางคนบอบบาง บางคนเข้มแข็ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประสบการณ์ที่พบเจอ แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วสิ่งพิเศษบางอย่างคอยควบคุม “ความอ่อนไหว” เหล่านี้อยู่
เป็นคำถามที่คาใจมาเนิ่นนานในเรื่องของ “อารมณ์และความรู้สึก” ที่แตกต่างกันของมนุษย์แต่ละคน
หลายคนร้องห่มร้องไห้แทบเป็นแทบตายเพราะได้ดูภาพยนตร์อันแสนเศร้า แต่หลายคนกลับนั่งเฉยๆ ได้ราวกับไม่มีอารมณ์ร่วมใดๆ แล้วมันเป็นเพราะอะไรกันนะ?
บางคนว่ามันเป็นเรื่่องของจิตใจ บางคนว่าเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม บางคนว่าเป็นเรื่องของประสบการณ์ หรือบางทีอาจจะเป็นเรื่องของสภาพร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง และนักวิทยาศาสตร์บางคนก็เชื่อว่ามันมีเรื่องของตัวแปรในสมองของเรามามีเอี่ยว
คำตอบอยู่นี่แล้ว!
จากการศึกษาด้านพันธุศาสตร์มาเป็นเวลาพอสมควรและผ่านการทดลองมากมายหลายครั้ง ในที่สุดเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักค้นคว้าวิจัยก็ได้ค้นพบคำตอบว่า มียีนหรือพันธุกรรมบางอย่างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกที่ติดตัวมา “ตั้งแต่กำเนิด” โดยเรียกมันว่า Sensitive Gene
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยมอนเมาต์ และสถาบันการแพทย์ไอน์สไตน์ ค้นพบว่าการที่คนบางกลุ่มแสดงอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวมากกว่าปกตินั้นเนื่องมาจากการทำงานบางอย่างในสมองควบคู่กับยีนชนิดหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากคนอื่นๆ
ในการทดลอง ผู้เข้ารับการทดสอบ 18 คนต้องมองภาพถ่ายใบหน้าที่แสดงอารมณ์แตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ เช่น ยิ้ม หัวเราะ บึ้งตึง หรือร้องไห้ ในขณะที่สมองของพวกเขาก็ถูกทำการสแกนเพื่อดูกระบวนการทำงานไปด้วย ผลการทดลองพบว่าคนที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์ (SPS) มาก จะมีการสูบฉีดเลือดที่รวดเร็วและแรงกว่าในส่วนของสมองเกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์
นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งการทดลองในปี 2012 ทีมนักวิจัยประกอบด้วย Rachael Grazioplene, Colin DeYoung, Fred Rogosch และ Dante Cicchetti ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของเส้นประสาทชนิดคอลีเนอร์จิก (cholinergic) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งการกระตุ้นใหม่ๆ
พวกเขาพบว่าระบบประสาท Cholinergic นั้นจะทำงานในขณะที่เราเผชิญกับสภาวะที่แปลกใหม่และควบคุมไม่ได้ เช่นในสถานการณ์ที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อไม่เคยประสบ เราก็จะไม่สามารถคาดเดาอะไรเกี่ยวกับมันได้เลย จึงทำให้เราเกิดความรู้สึกที่คาดเดาไม่ได้และไม่มีความมั่นคง
อย่างเช่นในการเข้ามหาวิทยาลัยหรือเข้าทำงานวันแรก เราจะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าระบบของที่แห่งใหม่จะเป็นอย่างไร เพื่อนใหม่จะนิสัยแบบไหน หรือจะมีปัญหาท้าทายใดรอคอยอยู่ ซึ่งอาจจะมีทั้งดีและไม่ดีก็ได้
ในสถานการณ์ที่ “ใหม่” นั้น แต่ละคนจะมีปฏิกิิริยาแตกต่างกันไป บางคนจะมองเหตุการณ์เหล่านั้นว่าเป็น “ความตื่นเต้นท้าทาย” ที่น่าสนใจ แต่บางคนอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่ “น่ากลัวและน่ากังวล” โดยความรู้สึกเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากเส้นประสาท cholinergic
แต่ไม่ใช่แค่เพียงระบบประสาทและสมองเท่านั้นที่มีผลต่อมุมมองของมนุษย์เรา การทดลองพบว่าประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสภาพการเติบโตก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน
ทีมวิจัยได้จัดค่ายสำหรับเด็กและเยาวชนขึ้นโดยใช้เวลานาน 1 สัปดาห์ สมาชิกในค่ายประกอบไปด้วยเด็กๆ ตั้งแต่อายุ 8 ถึง 13 ปี ที่มาจากสภาพสังคมเดียวกัน แต่มีชีวิตและการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน เด็กหลายคนเติบโตมาท่ามกลางความรุนแรงและการถูกทำร้าย ในขณะที่เด็กหลายคนเติบโตมาอย่างปกติสุข
ผลการศึกษาพบว่า เด็กๆ ที่มียีนของอารมณ์และความรู้สึกที่อ่อนไหวเหมือนกันนั้นสามารถมีมุมมองแตกต่างกันต่อค่ายนี้ได้ เด็กที่เติบโตมาในสภาวะที่ถูกทำร้ายจะมองว่าค่ายนี้คือค่ายที่จะเอาเปรียบหรือทำร้ายพวกเขา ในขณะที่เด็กที่เติบโตมาอย่างปกติมองว่ามันเป็นเพียงค่ายและกิจกรรมน่าสนใจทั่วไป
จึงสามารถสรุปได้ว่า แม้ยีนที่เกี่ยวของกับการควบคุมสภาวะทางอารมณ์จะมีผลต่อความอ่อนไหวของผู้คน แต่ปัจจัยภายนอกและตัวแปรหลายอย่างก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน
ดังนั้นแม้ว่าบางคนจะมียีนชนิดนี้อยู่ แต่ถ้าอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีประสบการณ์ด้านบวก ก็ไม่จำเป็นว่าคนๆ นั้นจะมีความอ่อนไหวและต้องมองโลกในแง่ลบ
อารมณ์และความรู้สึกอ่อนไหวนั้นมีผลมาจากทั้งส่วนของพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม และความอ่อนไหวไม่ได้ส่งผลเสียเสมอไป มันช่วยให้คนมีความเห็นอกเห็นใจและจิตใจที่ดีงามอยากช่วยเหลือคนอื่น แต่คนที่ดูเหมือนไม่รู้สึกก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเห็นอกเห็นใจ เพียงแต่พวกเขาไม่ได้แสดงมันออกมาเท่านั้นเอง
ที่มา: elitedaily, ภาพ: pinterest,buzzfeed