Facebook วิเคราะห์พฤติกรรมการหัวเราะของคุณจากการแชทส่วนตัว
ต้องยอมรับจริงๆ ว่าการใช้ Facebook ก็ไม่ต่างจากการพาตัวเองเข้าไปเป็นตัวอย่างการวิจัยอะไรบางอย่าง จะให้เลิกใช้ก็ไม่ได้เสียด้วย เพราะไม่ว่าจะติดต่อธุระอะไรเดี๋ยวนี้ Social Media กลายเป็นสื่อกลางที่สำคัญ เพราะเหตุนี้เองยิ่งทำให้การเลิกใช้ Facebook ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย ก็เลยต้องกัดฟันยอมให้ตัวเองถูกเขาเอาเป็นตัวอย่างวิจัยให้เปลืองตัวกันฟรีๆ นอกจากนั้นทางบริษัท Facebook ก็ไม่เคยปิดบังเรื่องการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้ที่ทางบริษัทหมั่นทำการวิจัยเสียจริงๆ
ล่าสุด ทางบริษัท Facebook ได้เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการหัวเราะของผู้ใช้จากการแชทในกล่อง Messages ซึ่งพบว่า ผู้ใช้ในแต่ละพื้นที่ และเชื้อชาติ จะมีวัฒนธรรมในการหัวเราะแตกต่างกัน (ในภาษาอังกฤษ) แม้แต่ผู้คนที่อยู่ประเทศเดียวกัน แต่อาศัยคนละเมือง ก็มีการพิมพ์แสดงออกเสียงหัวเราะแตกต่างกันเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในบางกลุ่มยังนิยมใช้ Emoji หรือ Emoticon มากกว่าที่จะพิมพ์แสดงการหัวเราะเป็นเสียง โดยพบว่า คำที่ถูกใช้บ่อยที่สุดเพื่อแสดงอาการหัวเราะ คือคำว่า Haha ที่สูงถึง 51.4 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยการส่ง Emoji แสดงอารมณ์หัวเราะแทนการพิมพ์ 33.7 เปอร์เซ็นต์ การพิมพ์คำว่า Hehe 13.1 เปอร์เซ็นต์ และสุดท้ายการพิมพ์คำว่า lol 1.9 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้วิเคราะห์ถึงการแสดงเสียงหัวเราะตามเขตพื้นที่ ที่มักจะมีความแตกต่างกัน เช่น ประชากรในชิคาโก และนิวยอร์ก มักจะสื่ออารมณ์การหัวเราะด้วยการส่ง Emoji ในขณะที่ ประชากรใน ซานฟรานซิสโก และซีแอ็ตเติ้ล จะสื่ออารมณ์การหัวเราะด้วยการพิมพ์คำว่า Haha
อีกทั้งความแตกต่างด้านเพศก็ส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์การหัวเราะเช่นเดียวกัน โดยพบว่า ในเพศชายมักนิยมที่จะพิมพ์เป็นตัวอักษรเช่น Haha, Hehe เพื่อสื่อถึงการหัวเราะ ในขณะที่เพศหญิง มักนิยมส่ง Emoji สื่ออารมณ์แทนนั่นเอง
ซึ่งทางทีมวิจัยก็ได้ทำการวิเคราะห์เสียงหัวเราะต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกจากการพิมพ์ในกล่องแชทลึกลงไปอีก แล้วพบว่า เสียงหัวเราะที่เป็นเสียงมาตรฐานผ่านการพิมพ์ คือเสียง Haha โดยการ Analyzing นี้ก็ได้เฉลี่ยรวมไปถึงผู้ใช้ที่ใช้ตัวเลขแสดงการหัวเราะต่างๆ รวมไปถึงตัวเลข 5 ของไทยเราเองด้วย
สุดท้ายนี้ก็เข้าใจว่าการกระทำแบบนี้ก็อาจให้ประโยชน์ทางด้านการสำรวจประชากรในบางแง่มุม แต่ไม่ทราบว่าถ้ามองในอีกทางหนึ่งจะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรึเปล่าก็ไม่รู้นะครับ เห็นทีปัญหาเรื่องกฏหมายการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว คงจะเป็นปัญหาที่คาราคาซังไปอีกนานเลยนะครับ ถ้าหากบริษัทใหญ่ๆ ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลของเรา และเอามาทำการวิจัยได้ง่ายๆ แบบนี้ แต่สิ่งที่เราผู้อาศัยอยู่ในประเทศโลกที่สามคงทำได้อย่างเดียวก็คือปล่อยไปยถากรรมล่ะมั้งครับ
Source : buro247.com