เกณฑ์ทหาร - เรียน รด. - กระบวนการทำลายจิตสำนึกเยาวชน
เมื่อไม่นานมานี้ผมเห็นมีการแชร์ข่าวว่า พรบ.กำลังสำรองได้ผ่านวาระแรกไปแล้ว ซึ่งถ้า พรบ.ฉบับนี้สามารถผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ครบทุกวาระ ก็จะส่งผลให้สามารถเรียกกองหนุนอายุไม่เกิน 60 ปี เข้าฝึกได้ปีละ 2 เดือน เมื่อผมอ่านข่าวนี้จบในใจก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า
"แล้วตรูเรียน รด. ไป 3 ปี เพื่ออะไรกันละเนี่ย?"
จากคำถามนั้นเองทำให้ผมย้อนนึกไปถึงช่วงเวลาที่เรียน ร.ด. ตอน ม.ปลาย ของตน
3 ปี ตั้งแต่ ม.4 ม.5 ม.6 ที่ได้เรียน ร.ด. สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ชัดเจนที่สุดคือ กองกำลังรักษาดินแดนเป็นหน่วยงานราชการหนึ่งที่มีศักยภาพในการนำเงินเข้ารัฐได้อย่างสูงที่สุด เพราะศูนย์ฝึกจะคิดรูปแบบการสูบเงินจาก นศท. เรื่อยๆ ตั้งแต่
ซองเรี่ยไรการกุศลที่บังคับให้ใส่ทุกคนทุกสัปดาห์ที่ฝึก
ประกาศว่าถ้ากินขนม/ลูกชิ้นร้านเมียตัวเองหมดเร็ว จะปล่อยกลับบ้านเร็ว
บังคับซื้อที่โกนหนวดสำหรับคนที่หนวดยาวเกินมาตรฐาน (ของครูฝึก)
เก็บค่าบริการใช้น้ำยาขัดหัวเข็มขัด-รองเท้าสำหรับคนที่เงาไม่ถึงมาตรฐาน(ของครูฝึก)
บังคับให้ซื้อของที่แทบไม่จำเป็นต่อการฝึกเลย เช่น สมุดจด lecture, สมุดทำความดี
เก็บค่าเข็มกลัดโดดหอโดยไม่บอกล่วงหน้า (โดดหอเสร็จลงมางงๆ บังคับให้ซื้อเฉย)
บังคับซื้อผ้าพันคอและที่อุดหูตอนยิงปืนที่เขาชนไก่
กำหนดให้การยิงปืนเป็นขั้นตอนหนึ่งของการรายงานตัวขึ้นชั้นปี (ซึ่งต้องเสียเงินซื้อกระสุน ใครไม่ยิงกลับบ้านไม่ได้)
บังคับเก็บค่าฉีดน้ำรดลานกางเต้นท์ที่เขาชนไก่ (อ้างว่าถ้าไม่ฉีดเดี๋ยวฝุ่นฟุ้ง แต่แค่ค่าฉีดน้ำยังจะเก็บอี๊กกก) และอีกมากมายนับไม่ถ้วน
จนบางครั้งเคยคิดว่าถ้าหากรัฐบาลต้องการกู้เงิน อาจลองเปลี่ยนจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ มาเป็นกองกำลังรักษาดินแดนดูน่าจะดี 55555
นอกจากเทคนิคแพรวพราวมากมายในการสูบเงินจาก นศท. แล้ว กองกำลังรักษาดินแดนยังมีการคอรัปชั่นกันอย่างถึงที่สุด และรูปแบบการคอรัปชั่นนั้นก็เป็นไปอย่างบัดซบที่สุด และในขณะเดียวกันก็เปิดเผยอย่างถึงที่สุดด้วย
ตัวอย่างการคอรัปชั่นแบบเบสิคที่สุด คือ วันดีคืนดี ครูฝึกจะบังคับให้ นศท. ไปยิงปืน ซึ่งจะถูกจัดเป็นกิจกรรมท้ายๆ ก่อนปล่อยกลับบ้าน แน่นอนเราต้องเสียเงินซื้อกระสุน แต่สักพักจ่าที่ขายกระสุนให้เราจะตะโกนมาว่า "ใครไม่อยากยิงให้เอากระสุนมาคืน แล้วกลับบ้านได้" (คืนได้แต่กระสุน แต่เงินไม่ได้คืนนะครัช ซื้อแล้วซื้อเลย) กระสุนที่ถูกคืนก็จะถูกนำมาขายใหม่ วนไปรอบแล้วรอบเล่า(แหม่!!! หากินง่ายไหมหละครับ)
แต่การคอรัปชั่นเรื่องกระสุน ก็คงยังไม่พีคเท่าเรื่อง "พระกริ่งในตำนาน" มีการประกาศให้ นศท.ร่วมทำบุญสร้างพระกริ่ง (ซึ่งแน่นอนมันคือการบังคับกลายๆ) นศท.ต่างร่วมใส่เงินสมทบทุน เพราะอย่างน้อยก็หวังได้ว่าครั้งนี้ยังได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมาบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนเกิดการทวงถามว่าเมื่อไหร่จะได้พระที่เราเสียเงินไป กลับมีจ่าคนนึง กล้าพูดอย่างหน้าตาเฉยว่า "เค้ายกเลิกสร้างไปแล้ว ช่างมันเหอะ" ซึ่งแน่นอนว่าไม่มี นศท. คนไหนในเวลานั้นเซ้าซี้ถามต่ออีก คำถามคือ การคอรัปชั่นเงินมหาศาลที่เรี่ยไรไปขนาดนี้ ย่อมไม่ได้เกิดจากจ่าไม่กี่คนแน่ๆ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองกำลังรักษาดินแดนจะไม่มีส่วนรู้เห็นเชียวหรือ? (แน่นอนอีกละครับว่าอย่าหวังว่าจะทวงเงินคืน หึหึ)
สุดท้ายแล้วมานั่งนึกๆดูก็ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า "เราได้อะไรจากการเรียน ร.ด. บ้างที่ไม่ใช่แค่การพ้นจากสภาวะที่ต้องไปเกณฑ์ทหาร?"
แต่ที่แน่ๆก็คงมีอย่างน้อย 1 อย่างแหละที่ผมได้จากมัน เพราะมันคือครั้งแรกที่เยาวชนอย่างผมต้องเผชิญหน้ากับการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเปิดเผย (เปิดเผยอย่างไม่แคร์สายตาใครๆด้วย) ทำให้ต้องเรียนรู้ที่จะหุบปากหุบคำ และปรับตัวเพื่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด
คุณจะมีหน้ามาบอกอนาคตของชาติได้ยังไง ว่า "โตไปไม่โกง" ในเมื่อคุณยังยัดเยียดประสบการณ์สุดบัดซบ ที่กดเยาวชนให้สยบยอมต่อคำสั่งที่ไร้เหตุผลและเฉยชาต่อการคอรัปชั่น ลงไปในช่วงชีวิตวัยเรียนของเขาถึง 3 ปี ติดต่อกัน