มังกรโคโมโด ตำนานที่มีชีวิต (KOMODO THE LIVING LEGEND)
เรื่องราวของสัตว์ร้ายในดินแดนที่ห่างไกล และลึกลับ ดูจะเป็นตำนานที่มีอยู่มากมายในแทบจะทุกชนชาติ หลายๆ เรื่องนั้น ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเพียงเรื่องเหลวไหล แต่ในขณะเดียวกันบางตำนานก็มีที่มาจากเรื่องจริง ดังเรื่องราวที่เราจะนำเสนอต่อไปนี้
ทางตะวันออกของเกาะชวา และบาหลีในประเทศอินโดนีเซีย มีหมู่เกาะเล็กๆ ชื่อว่า หมู่เกาะซุนดาน้อย ตั้งอยู่ ซึ่งมีเกาะหนึ่งที่ชื่อว่า เกาะโคโมโด (KOMODO ISLAND) ซึ่งเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ
เกาะโคโมโด เป็นเกาะขนาดเล็กมีพื้นที่เพียง 75 ตารางไมล์ เดิมทีเกาะแห่งนี้ไม่มีคนอาศัยอยู่ ต่อมาในต้นศตวรรษที่19 สุลต่านแห่งซุมบาวาได้ใช้เกาะแห่งนี้เป็นที่เนรเทศนักโทษ และศัตรูทางการเมือง แต่อย่างไรก็ดี มีบางคนที่ไปเยี่ยมเกาะแห่งนี้ เช่น นายพราน และนักงมหอยมุก ได้เล่าว่าพบสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์น่ากลัว อาศัยอยู่บนเกาะ พวกเขาเล่าว่ามันดูคล้ายจรเข้ แต่อยู่บนบก ออกล่ากวาง หมูป่า และคนกิน พวกเขาเรียกมันว่า บูอาจา ดารัต (BOEAJA DARAT) หมายถึง จรเข้บก คนผิวขาวที่ปกครองอินโดนีเซียในขณะนั้น ไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้แต่ก็ไม่ทุกคน
มีเจ้าหน้าที่ชาวดัชท์ผู้หนึ่งชื่อว่า พันตรี พี.เอ.อูเวนส์ ( MAJOR P.A. OUWENS) ผู้อำนวยการสวนพฤกษชาติชวาที่เบาเตนซอร์ก (ปัจจุบัน คือ กรุงจาการ์ต้า) สนใจเรื่องนี้ และต้องการข้อมูลของมัน ดังนั้นในปี 1910 เขาได้ติดต่อไปยังข้าหลวงของเกาะฟลอเรส ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะโคโมโด ท่านข้าหลวงซึ่งเป็นนักธรรมชาติวิทยาสมัครเล่นคนหนึ่ง รับปากว่าจะหาข้อมูลมาให้
ต่อมาในปี 1912 นักบินผู้หนึ่งเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องขณะบินผ่านเกาะโคโมโด จึงต้องนำเครื่องลงฉุกเฉินที่นั่น เครื่องบินเสียหายแต่ตัวนักบินไม่เป็นอะไร ทว่าเมื่อเขาออกมาจากเครื่องก็ต้องตกใจ เมื่อพบว่ามีสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ หน้าตาเหมือนสัตว์ดึกดำบรรพ์รายล้อมเครื่องบิน เขารีบวิ่งหนีออกมาทันที และรอดชีวิตออกมาได้ นี่คือครั้งแรกที่ชาวยุโรปได้พบกับจรเข้บกในตำนาน ในปีเดียวกันท่านข้าหลวงแห่งเกาะฟลอเรสได้ไปที่นั่น และได้รับการยืนยันเรื่องสัตว์ดังกล่าว จากนั้นท่านข้าหลวงได้มีโอกาสยิงสัตว์ดังกล่าวได้ตัวหนึ่ง และส่งหนังยาว 2.20 เมตร ของมันไปให้อูเวนส์ และบอกว่ามันไม่ใช่จรเข้แต่ใกล้เคียงพวกตะกวดมากกว่า จากนั้นไม่นาน ทางสวนพฤกษชาติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังเกาะโคโมโด และสามารถจับสัตว์ดังกล่าวเป็นๆ ได้ถึงสี่ตัว มีอยู่ตัวหนึ่งยาวถึงสามเมตร อูเวนส์ได้เขียนเรื่องของมันลงวารสารวิชาการ และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้มันว่า วารานัส โคโมโด เอนซิส (VARANUS KOMODOENSIS) หมายถึง ตะกวดแห่งโคโมโด แต่ด้วยขนาดอันใหญ่โตของมัน ทำให้ผู้คนเรียกมันว่า มังกรโคโมโด ( KOMODO DRAGON)
แสงแดดยามเช้าบนเกาะโคโมโดนำความอบอุ่นมาสู่พื้นป่า บนต้นไม้ฝูงนกเขาเตรียมออกหากิน ขณะที่เบื้องล่างสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่หลายตัว ออกมาผึ่งแดดเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น พวกมันมองดูเหมือนสัตว์โลกยุคดึกดำบรรพ์ ที่ยังตกค้างอยู่ในโลกปัจจุบัน มังกรโคโมโดสืบเชื้อสายมาจากตะกวดขนาดใหญ่ ที่อยู่ในออสเตรเลีย (MEGALANIA PRISCA) ต้นตระกูลของตะกวดพันธ์นี้ กำเนิดขึ้นเมื่อราวร้อยล้านปีก่อนในเอเชีย พวกมันใช้เวลาสี่ล้านปีในการวิวัฒนาการตัวเอง
มังกรโคโมโดเป็นตะกวดพันธ์ใหญ่ที่สุดของโลก มันยาวถึงสามเมตร (ส่วนตัวที่ยาวที่สุดยาวถึง 3.60 เมตร) และหนักกว่า 70 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ มังกรโคโมโดจะโตเต็มที่เมื่อมีอายุได้สิบห้าปี และมีอายุยืนกว่าห้าสิบปีในป่าธรรมชาติ ชาวพื้นเมืองบนเกาะโคโมโดเรียกมันว่า โอรา (ORA) หรือจรเข้บก ส่วนบนเกาะฟลอเรสเรียกว่า บีอาวัค รัคซาสา (BIAWAK RAKSASA) ซึ่งหมายถึง ตะกวดยักษ์ นับได้ว่าเป็นชื่อที่ตรงกับตัวจริงของมันมากที่สุด
กวางป่าตัวหนึ่งออกมาหาอาหารอย่างระแวดระวัง ขณะเดียวกันลิงกังตัวหนึ่งลงมาจากต้นไม้ บนเกาะแห่งนี้มีเหยื่ออยู่มากสำหรับมังกรยักษ์เหล่านี้
นักธรรมชาติวิทยาหาเหตุผลที่ว่า ทำไมโคโมโดจึงมีร่างกายใหญ่โต ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วสัตว์ที่อาศัยบนเกาะขนาดเล็ก ควรมีขนาดเล็กกว่าสัตว์บนแผ่นดินใหญ่ มังกรโคโมโดมาอยู่บนเกาะนี้ และหมู่เกาะใกล้เคียงกว่าสี่ล้านปี และวิวัฒนาการจนมีขนาดใหญ่โต มีเรื่องหนึ่งคือว่า แต่เดิมบนเกาะที่พวกมันอาศัยอยู่นั้น ไม่มีสัตว์จำพวกกวาง และหมูป่า หรือควายอาศัยอยู่เลย สัตว์เหล่านั้น ถูกนำเข้ามาเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง แล้วแต่เดิมพวกมันกินอะไร? จากการขุดค้นพบว่าในยุคดึกดำบรรพ์ บนเกาะเหล่านี้เคยมีช้างแคระอาศัยอยู่สองชนิด แต่ต่อมาได้สูญพันธ์ไป และช้างเหล่านี้เองที่เป็นอาหารเดิมของเหล่ามังกร จากการที่พวกมันต้องล่าเหยื่อขนาดใหญ่ ทำให้เหล่ามังกรต้องวิวัฒนาการร่างกายให้ใหญ่โต สมกับเหยื่อของมัน
หมูป่าหนุ่มเดินมาตามทางช้าๆ มังกรรอจนเหยื่อเข้าใกล้ และพุ่งเข้างับมันด้วยฟันอันแหลมคม เจ้าหมูเคราะห์ร้ายตายแทบจะทันที
มังกรโคโมโดเป็นนักล่าที่น่าหวาดกลัว มันล่าสัตว์ตั้งแต่ ลิง นก หมูป่า กวาง จนถึงควาย และม้า อย่างไรก็ตามแม้ว่ามันจะวิ่งได้เร็วเกือบสี่สิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่มันจะวิ่งไล่ได้เพียงครั้งเดียว ถ้าหากมันจับเหยื่อไม่ได้ มันจะต้องหยุดนิ่งเพื่อชาร์จพลัง สำหรับการวิ่งครั้งใหม่ ดังนั้น เวลาออกล่ามันมักจะใช้วิธีซุ่มดักเหยื่ออยู่ตามทางเดินของสัตว์มากกว่า และรอจนกระทั่งเหยื่อเข้ามาใกล้ มันจะจู่โจม ด้วยฟันที่คมกริบ และเล็บโค้งที่แข็งแกร่ง แต่อาวุธที่น่ากลัวที่สุดของมันกลับเป็นน้ำลายในปาก มีบางครั้งที่มังกรโคโมโดล้มเหยื่อไม่ได้ในการล่าครั้งเดียว เหยื่ออาจหนีรอดจากกรงเล็บของมันไปได้ แต่ถ้าหากเหยื่อถูกกัดแล้ว ก็จะไม่อาจรอดไปได้ เนื่องจากในน้ำลายของโคโมโดนั้นมีแบคทีเรียมากกว่าห้าสิบชนิด เหยื่อที่ถูกกัดจะเกิดอาการเลือดเป็นพิษ และตายในเวลาไม่เกินสามวัน จากนั้นมังกรจะตามกลิ่นของความตายเพื่อมารับรางวัลของมัน
มังกรโคโมโดมีประสาทในการรับกลิ่น และแยกกลิ่นดีมาก มันสามารถรับกลิ่นได้ไกลหลายกิโลเมตร โดยมันจะใช้ลิ้นในการรับกลิ่น และใช้ปุ่มที่เพดานปากในการแยกกลิ่น มันสามารถบอกได้ว่าเหยื่อของมันอยู่ที่ใด และมีอาการเป็นอย่างไร เมื่อได้เหยื่อแล้วมังกรสามารถกินอาหารได้มากถึง 80% ของน้ำหนักตัว และอยู่ไปได้หลายวัน
มังกรโคโมโดตัวหนึ่งจับหมูป่าได้ มันจะรีบกินอย่างเร็วที่สุด ก่อนจะมีมังกรตัวอื่นมาแย่งอาหาร มังกรโคโมโดสามารถกลืนเหยื่อขนาดใหญ่ได้ทั้งตัว โดยการขยายกล้ามเนื้อที่ขากรรไกรออกเหมือนงู นอกจากจะมีประสาทรับกลิ่นเป็นเลิศแล้ว มังกรโคโมโดยังเป็นนักว่ายน้ำที่แข็งแกร่ง นักธรรมชาติวิทยาเชื่อว่า บรรพบุรุษของมันว่ายน้ำมาจากออสเตรเลียเมื่อราวสี่ล้านปีก่อน
มังกรโคโมโดจะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 8 ปี พวกมันจะจับคู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม หลังจากนั้นตัวเมียจะวางไข่ประมาณ 15 – 30 ฟอง ในโพรงดินที่มันขุดขึ้น หลังจากกลบไข่แล้ว ตัวเมียจะทิ้งรังไป จากนั้นราวแปดเดือนไข่จะฟักเป็นตัว แต่ก่อนหน้านั้นไข่ราวครี่งหนึ่ง จะกลายเป็นอาหารของสัตว์อื่นรวมทั้งมังกรตัวอื่นด้วย ลูกมังกรแรกเกิดยาวราว 2 ฟุต พวกมันจะขึ้นไปอยู่บนต้นไม้เพื่อหลบภัย จนกว่าจะโตพอลงมาหากินบนพื้นดินได้
มังกรโคโมโดอาจจู่โจมมนุษย์บ้าง แต่มีไม่บ่อยนัก มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อราวสามถึงสี่สิบปีก่อน บนเกาะโคโมโด นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันวัยหกสิบ รู้สึกเหนื่อยขณะเดินไปกับกลุ่ม จึงขอแยกตัวมานั่งพักชั่วขณะ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น พวกเขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไรหากทิ้งเพื่อนร่วมทางไว้สักครู่ ทว่าเมื่อพวกเขากลับมา ก็พบเพียงเศษเลือดกับของบางอย่างของชายชราทิ้งไว้ ที่บอกให้รู้ว่าเพื่อนร่วมคณะของพวกเขากลายเป็นเหยื่อของมังกรไปเสียแล้ว ไม่บ่อยนักที่เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น โดยมากคนที่ตกเป็นเหยื่อมักจะอ่อนแอ และไม่ทันระวังตัวมากกว่า
บนชายหาดมังกรตัวหนึ่งกำลังเดินอย่างเงียบเหงา ทุกวันนี้มีมังกรโคโมโดเหลืออยู่บนโลกราว 4,000 ตัว กระจายอยู่บนสี่เกาะ คือ เกาะโคโมโด เกาะรินคา เกาะฟลอเรส และเกาะซุมบาวา โดยเกาะโคโมโดมีอยู่มากที่สุด คือกว่า 1,500 ตัว อย่างไรก็ดี พวกมันกำลังถูกคุกคาม เนื่องจากจำนวนประชากรบนเกาะที่พวกมันอยู่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เหยื่อของมันถูกล่าจนลดน้อยลง การขยายตัวของกสิกรรมทำลายพื้นที่หากินของมัน ทุกวันนี้แม้ว่าเกาะโคโมโด จะได้รับการประกาศจากองค์กรสหประชาชาติให้เป็นมรดกโลก แต่ปัญหาการคุกคามที่อยู่ และการลดจำนวนลงของเหยื่อของมังกรโคโมโดก็ยังคงอยู่ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การอนุรักษ์สัตว์ป่า และธรรมชาติกลายเป็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อสรุป อย่างไรก็ตาม เราก็ได้แต่หวังว่า อนาคตของมังกรโคโมโดคงจะไม่ใช่จุดจบที่มืดมน เราเชื่อว่าในวันข้างหน้า มังกรโคโมโด จะยังคงอยู่คู่โลกเราในฐานะตำนานที่มีชีวิต มิใช่ตำนานที่ไร้ลมหายใจเหมือนสัตว์อื่นอีกหลายชนิด