ประสบการณ์ถือศีลอดของวัยรุ่นที่มีความผิดปกติในการรับประทานอาหาร
อามีนา เคลย์ตัน วัย 19 ปีจากเมืองเบอร์มิงแฮม ของอังกฤษ บอกเล่าประสบการณ์การถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนผ่านมุมมองของผู้ป่วยโรคความผิดปกติในการรับประทานอาหาร
อามีนา เล่าว่า เธอได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติในการรับประทานอาหารมาตั้งแต่อายุ 16 ปี และปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงพักฟื้นจากโรคอะนอเร็กเซียและบูลิเมีย แต่การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนปีนี้ทำให้ความทรงจำที่เจ็บปวดเก่าๆเกี่ยวกับความผิดปกติของตัวเองกลับมาอีกครั้ง เพราะความสำคัญของการถือศีลอดอยู่ที่อาหารนั่นเอง
อามีนา บอกว่า การอดอาหารในช่วงกลางวันเป็นเรื่องง่ายกว่าการละศีลอดในตอนกลางคืนเพราะมันเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกในครอบครัวมารวมกันทานอาหาร หลังจากอดอาหารมานาน 18 ชั่วโมง โดยปัญหาที่อามีนา พบในช่วงนี้คือการที่ต้องทานอาหารตอนดึกและช่วงเช้าตรู่ของอีกวัน ซึ่งช่วงเวลา 5-6 ชั่วโมงนี้เองทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองทานอาหารมากเกินไป และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เธอรู้สึกผิดและละอายใจมากที่ไม่สามารถควบคุมการกินได้ จนอยากทำให้ตัวเองอาเจียนออกมาเหมือนที่เคยทำในอดีต
โชคดีที่อามีนา เปิดใจคุยถึงปัญหานี้ให้แม่ฟัง และได้พูดคุยกับหมอชาวมุสลิมเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งก็ช่วยเธอได้มาก ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าตัวเน้นย้ำว่า คนที่มีปัญหาเช่นเดียวกับเธอควรทราบว่า ชาวมุสลิมไม่จำเป็นต้องถือศีลอดหากสุขภาพไม่เอื้ออำนวย โดยเมื่อปีก่อน อามีนาก็ตัดสินใจไม่ถือศีลอดเลย เพราะทราบดีว่ามันจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วย ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ส่วนในปีนี้เธอตัดสนใจถือศีลอดเป็นบางวัน
อุสมัน มาห์มูด อิหม่ามจากมัสยิดกลางเมืองเบอร์มิงแฮม บอกเช่นกันว่า หากประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจนส่งผลเสียต่อสุขภาพก็ควรหยุดเสีย และอาจใช้วิธีจ่ายฟิดยะห์เป็นค่าอาหารแก่คนยากไร้แทนการถือศีลอดได้
ด้าน Beat องค์กรการกุศลที่ช่วยผู้มีความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ระบุว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเผชิญความยากลำบากเป็นพิเศษในช่วงเดือนรอมฎอนและเทศกาลทางศาสนาต่างๆ อาทิ คริสต์มาสเนื่องจากเทศกาลเหล่านี้มักให้ความสำคัญไปที่เรื่องอาหารการกิน ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจึงควรต้องงดถือศีลอด และบางครั้งองค์กรยังช่วยให้คนเหล่านี้ได้รับคำแนะแนวทางศาสนา นอกจากนี้สมาชิกในครอบครัวก็อาจสนับสนุนให้ผู้ป่วยร่วมทำบุญในเดือนรอมฎอนด้วยการบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้แทน