ประเพณี “เลี้ยงดง” กินกระบือสดๆ ความเชื่อแต่โบราณ ที่ยังคงอยู่
ตามตำนาน กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ถึงเชิงดอยคำ และได้พบว่ามียักษ์ 3 ตน พ่อแม่ลูก อาศัยอยู่และจับสัตว์และชาวเมืองกินเป็นอาหาร พระพุทธองค์จึงทรงแผ่เมตตาให้ยักษ์ทั้ง 3 จนยักษ์ทั้ง 3 เกรงในพระบารมีจึงยอมแสดงความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนาและให้ยักษ์ทั้ง 3 ตนรักษาศีล 5 แต่ยักษ์ 2 ตัวผัว – เมีย ไม่อาจรับศีลห้าได้ จึงขอกินมนุษย์ปีละ 2 คน แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาติ ยักษ์ทั้ง 2 จึงขอต่อรองลงมาเรื่อยๆ จนถึงขอกินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าจึงทรงให้ไปถามเจ้าเมืองเอาเอง แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จจากไป โดยไว้พระเกศธาตุที่ต่อมากลายเป็นพระธาตุดอยคำ เมื่อยักษ์ปู่แสะ ย่าแสะ ไปถามเจ้าเมือง เจ้าเมืองได้อนุญาติให้กินควายได้ปีละครั้ง จึงเกิดประเพณีฆ่าควาย เพื่อเอาเนื้อสดไปสังเวยให้ปู่แสะ ย่าแสะขึ้น ส่วนบุตรของปู่แสะย่าแสะ ได้บวชเป็นฤาษีชื่อ สุเทวฤาษี
จากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมานี้ ทำให้เกิดประเพณี การเลี้ยงดง ผีปู่แสะ ย่าแสะ ถูกจัดขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตกาล จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ซึ่งในปัจจุบันประเพณีนี้จะถูกจัดขึ้นในวันขึ้นหรือแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี บริเวณเชิงชายป่าด้านตะวันออกของ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และความเชื่อที่ว่าจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และผลผลิตทางการเกษตรจะได้ผลดี และเป็นการปัดเป่าไม่ให้สิ่งเลวร้านมากินบ้านกินเมือง
ก่อนเริ่มพิธี จะมีการขึ้นท้าวทั้งสี่ คือ พิธีบอกกล่าวแก่ท้าวจตุโลกบาต มีการสร้างปราสาท หรือ หอผีชั่วคราว ทำด้วยโครงไม้ไผ่ 12 หอ โดยหอของปู่แสะย่าแสะจะมีขนาดใหญ่สุด เพราะถือว่าเป็นผียักษ์ สัตว์ที่ถูกนำมาสังเวยก็คือ ควายเขาดำ ซึ่งต้องเป็นควายหนุ่มที่มีเขาสั้นแค่หู เชื่อกันว่าควายเทียบได้กับชิวิตของคน เพราะควายได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนมา ดังนั้น ควายจึงถือเป็นตัวแทนของคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อแก้ข้อขัดแย้งต่างๆ สำหรับควายที่ใช้บูชานั้น เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะเอามากินร่วมกัน และยังมีการตั้งชื่อลูกตามชื่อของควายที่ถูกบูชาด้วย เพื่อเป็นการตอบแทนควายที่สละชีวิตช่วยให้คนพ้นจากสิ่งชั่วร้าย
เมื่อเริ่มพิธี ปู่อาจารย์ หรือคนประกอบพิธี จะทำพิธีอัญเชิญผีปู่แสะย่าแสะมาเป็นประธานของผีทั้งหลายมารับเครื่องสังเวย และขอให้ผีทั้งหลายช่วยกันดูแลรักษาบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ต่อจากนั้นผีปู่แสะย่าแสะจะเข้าทรงและอวยชัยให้พรต่างๆ จากนั้นร่างทรงก็จะไปหยิบอาหารจากกระทงในปราสาททั้ง 12 มากินอย่างละเล็กละน้อย และดื่มสุราที่จัดไว้ให้ จากนั้นก็จะขึ้นไปนั่งบนหนังควายและโยกหัวควายไปมา พร้อมกับเอาเนื้อควายสดที่แขวนคอมากินด้วย และเมื่อผีปู่แสะย่าแสะในร่างทรงเอาท่อนไม้มาทำที่แคะฟันแสดงว่าอิ่มแล้ว ท้ายสุดร่างทรงก็จะล้มตัวลงนอนกับพื้นสักครู่หนึ่ง เมื่อผีลาทรงแล้วก็จะลุกขึ้นมามีอาการเป็นปกติ
ในปัจจุบัน ได้มีการนำเอาพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีการทำบุญเลี้ยงพระก่อนทำพิธีสังเวย และในช่วงที่พระสงฆ์สวดมนต์ ก็จะมีการเชิญพระบฏ หรือ แผ่นผ้าที่วาดรูปพระพุทธเจ้ามาแขวนให้แกว่งไปมาเพื่อสมมุติว่าพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ คนทรงจะใช้ไม่ตีที่พระบฏแสดงถึงการที่ปู่แสะย่าแสะจะเข้าไปทำร้ายพระพุทธเจ้าแต่ท้ายที่สุดก็ยอมรับพุทธานุภาพ
สำหรับชาวบ้านที่เข้ามาร่วมพิธีนี้ เนื่องจากเชื่อว่าหากได้เข้าร่วมพิธี จะรอดพ้นจากอันตราย ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ชุมชนบริเวณรอบๆ จะมีความสงบสุข ปราศจากภัยพิบัติทั้งปวง เพราะได้เลี้ยงหรือให้ทานแก่ผีปู่แสะย่าแสะ ซึ่งเป็นผู้ปกปักรักษาพื้นที่แห่งนี้
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อชมพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ อาจไม่เข้าใจเหตุผลในการทำพิธีเซ่นไหว้แบบนี้ ซึ่งเป็นพิธีที่ค่อนข้างจะน่ากลัว เพราะมีการนำควายทั้งตัวมาให้ผีปู่แสะย่าแสะขึ้นขี่ มีการกินเนื้อควายและดื่มเลือดควายสดๆ สีแดงและกลิ่นคาวของเลือดคลุ้งกระจายไปทั่ว หากใครที่ขวัญอ่อนหรือกลัวเลือดอาจถึงกับเป็นลมไปเลยก็มี บางคนไปดูแล้วก็คิดสงสารควาย ที่ต้องถูกฆ่าเพื่อเป็นเครื่องสังเวย