ปั่นจักรยานหน้าฝน สุดแสนโรแมนติก ไม่เชื่อดู!!
ฝนตก หลายๆคนชอบ และอีกหลายๆคนก็ไม่ชอบ แต่ที่แน่ๆ ฝนตก กับ จักรยาน ดูแล้วน่าจะเป็นของต้องห้ามกันเลยทีเดียวครับ เพราะนอกจากจะทำให้ตัวเราเปียกแล้ว การปั่นจักรยานในหน้าฝน ยังทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ของจักรยานเปียกไปด้วยครับ ถ้าได้ปั่นตากฝนมาก็คงต้องดูแลจักรยานของคุณเป็นพิเศษล่ะครับ หลายคนก็เลยตั้งใจว่าถ้าฝนตก หรือในหน้าฝนที่ใกล้จะถึงนี้ คงงดเอาจักรยานออกมาปั่นซักช่วงนึงเลย กลายเป็นว่า หน้าร้อน ก็ร้อนเสียเหลือเกิน หน้าฝนก็เปียก เหลือช่วงเวลาหน้าหนาวสำหรับปั่นจักรยานกันเท่านั้นเอง (จริงๆบ้านเราหนาวได้แป๊บเดียวซะด้วยสิ) แบบนี้คงไม่ได้ปั่นเป็นแน่ ขอเลือกเป็นปั่นจักรยานลุยฝนละกัน
ไฟหน้า และ ไฟท้าย ความพร้อมของจักรยานในการปั่นตอนฝนตก คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ไฟหน้า และ ไฟท้าย ที่ช่วยให้รถยนต์ต่างๆ มองเห็นเราได้ชัดขึ้น ซึ่งอยากจะเน้นย้ำเรื่องของไฟติดจักรยานกันซักนิด ว่าไฟบางอย่าง (ที่ขายกันตามตลาดนัด) มันอาจจะไม่ได้ให้แสงไฟที่สว่างมากพอ และอาจเกิดอันตรายในช่วงหน้าฝนได้ ทางที่ปลอดภัยเราควรเลือกซื้อไฟสำหรับติดจักรยานโดยเฉพาะมาใช้งานจะดีที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นยี่ห้อแพงๆก็ได้ แต่ขอแค่เป็นไฟสำหรับติดจักรยานโดยเฉพาะเท่านั้นเอง
ยาง แน่นอนว่า ถนนเปียกฝน ย่อมลื่นกว่า ถนนแห้งๆ ที่เราปั่นกันในหน้าหนาว และหน้าร้อนแน่นอน ซึ่งนอกจากจะใช้ความระมัดระวังกันเป็นพิเศษแล้ว การเติมลมยาง ก็ช่วยได้บ้าง เพราะในสภาวะถนนลื่น ยางที่เติมไว้ตึงสุดๆ ก็จะเกาะถนนได้น้อยกว่ายางแบนๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนปล่อยลมยางให้หมดแล้วปั่นไปนะครับ โดยปกติแล้ว ยางรถจะมีบอกแรงดันลมไว้ที่แก้มยางครับ เช่น 35-65 PSI หรือ 60-90 PSI (Pound per Square Inch) ให้เราเลือกเติมลมยางไว้ในระดับที่ต่ำสุดในช่วงหน้าฝนเท่านั้นเอง อย่าง 60-90 ก็เลือกเติมไว้ที่ 60 ปอนด์ อาจจะต้องออกแรงขี่มากขึ้นหน่อยแต่ก็ลดโอกาสลื่นล้มไปได้บ้าง
** ถนนที่ฝนเพิ่งตกลงมา หรือฝนเบาๆ เศษฝุ่นและเศษดินที่เปียกน้ำบนถนนจะทำให้ลื่นมากกว่า ถนนที่ฝนตกหนักและชะล้างฝุ่นและดินไปหมดแล้ว
โซ่ และ ชุดขับ การเตรียมรับมือกับฝน สำหรับโซ่จักรยาน คงเป็นที่น้ำมันหยอดโซ่ แบบเปียก ที่ออกแบบมาให้ใช้ในช่วงหน้าฝนโดยเฉพาะ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคงเป็นเรื่องหลังจากการปั่นตากฝนมาแล้ว (ย้ำว่าทุกครั้ง) ควรล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้ง เป่าลม และทาน้ำมันครับ