'ผู้หญิงไทย'กับตัวตน 'เรื่องทางเพศ' สังคมไทย'คิดใหม่?'
จากกรณีที่ทางสาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มีการจัดเสวนาเรื่อง ’ตัวตนใหม่ของผู้หญิงไทย : การต่อรองมายาคติทางเพศในครอบครัว“ ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นการเสวนาของนิสิตระดับปริญญาเอก เวทีนี้มีประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง สาวน้อย สาวใหญ่ ที่น่าพิจารณา
มีการยกตัวอย่างทั้งสาวใหญ่-สาวน้อย
มีการสะท้อนให้สังคมไทยยุคนี้ฉุกคิด...
ทั้งนี้ ดร.ปณิ ธี บราวน์ สะท้อนไว้ในเวทีเสวนา บางช่วงบางตอนว่า...แนวคิดสมัยใหม่ “ตัวตน” มีการเปลี่ยนแปลง ลื่นไหล และมีความซับซ้อน เพราะฉะนั้นสำหรับผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องสร้างตัวตนใหม่ เพียงแต่อย่ามองตัวตนเดียว ผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่ผู้หญิง แต่ยังเป็นลูกสาว น้องสาว แม่ เป็นเจ้าหน้าที่ อาจารย์ ฯลฯ ซึ่ง ทำอย่างไรในแต่ละสถานการณ์เราจะเลือกหยิบตัวตนแต่ละตัวตนมาใช้ เพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ได้รับความเท่าเทียมหรือการยอมรับ ซึ่งการจะเลือกตัวตนแต่ละบทบาทมาใช้ได้เหมาะสม ก็ ต้องเข้าใจสังคม
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากสังคม เพราะชีวิตเธอไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่สังคมต้องการ ผู้หญิงที่โดนแรงปะทะจะมีการแสวงหาทางออก-มีทางเลือกให้ตัวเองอย่างไร? นี่เป็นเรื่องน่าสนใจ
"มีช่องทางที่ทำให้ผู้หญิงได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเอง ถามว่ามีแรงกดดันไหม ย่อมมีความกดดัน แต่ผู้หญิงเรียนรู้ที่จะอยู่กับแรงกดดันได้ และท้ายที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะไม่ใส่ใจแรงกดดันได้"
อย่างกรณีผู้หญิงไทยเดินกับสามีต่างชาติ มักถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ดี และอาจมีการตั้งคำถามว่า...เป็นผู้หญิงอย่างว่าหรือผู้หญิงกลางคืนหรือไม่?? เป็นคำถามที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่เมื่อเจอกับสถานการณ์เช่นนี้บ่อย ๆ ก็จะเกิดการปรับตัว เรา ต้องเชื่อในความเป็นมนุษย์ แม้จะถูกกำหนดโดยโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์ทางสังคม แต่ในความเป็นมนุษย์ เราพอจะมีอิสระในการเลือกที่จะปรับตัวกับความกดดันต่าง ๆ ของสังคม
หรืออย่างกรณีเป็นแม่ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น ตั้งท้องขณะที่ยังเรียนอยู่ ก็จะเจอแรงกดดันมากมาย แต่จากการศึกษาและทำงานวิจัยพบว่า แม้จะเจอกับความกดดัน แต่ช่วงของชีวิตแบบนี้ก็มีการ เรียนรู้ที่จะจัดการกับความกดดัน แม้ว่าจะยากลำบาก โดยเฉพาะแม่วัยรุ่นที่มีฐานะยากจน และผู้ชายไม่ยอมรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแม่วัยรุ่นก็ต้องปรับตัวเอง มีการเรียนรู้ที่จะปรับตัว แล้วที่สุดก็สามารถที่จะผ่านความกดดันต่าง ๆ ได้
“ฉะนั้น การที่มนุษย์ใช้ชีวิตเคลื่อนผ่านไปในแต่ละช่วงของตัวเอง มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้ เรียนรู้บทบาทของตัวเอง เรียนรู้สังคม และดูว่าเราจะจัดการและอยู่อย่างไรในสังคม”
ในทางกลับกัน ก็มีเสียงสะท้อนจากเวทีเสวนา “ตัวตนใหม่ของผู้หญิงไทย : การต่อรองมายาคติทางเพศในครอบครัว” ที่จัดโดย มศว ซึ่งสังคมก็น่าจะต้องพิจารณา กล่าวคือ...มีหลายกรณีเกี่ยวกับผู้หญิงที่สังคมเอาแต่ตำหนิ ซึ่งอยากเห็นคนในสังคมเปลี่ยนทัศนคติ แม้สังคมจะมีกฎเกณฑ์หลัก แต่ก็อย่าลืมว่ากฎเกณฑ์ของสังคมมักพูดถึงสังคมของคนกลุ่มหลัก ความคาดหวังหลัก ไม่ค่อยมีส่วนที่ให้กับคนที่แตกต่างจากบรรทัดฐาน จนมีการนิยามว่า “เบี่ยงเบน” ซึ่งควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม
ไม่ได้หมายความว่าจะละทิ้งบรรทัดฐานของสังคม สังคมก็ต้องมีกฎระเบียบ บรรทัดฐาน เพื่อความเป็นระเบียบ นี่ก็ต้องเห็นด้วย แต่...ทำอย่างไรที่จะอยู่กับคนที่มีชีวิตแตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคมและ ความแตกต่างนั้นก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม?? เช่นผู้หญิงที่มีสถานภาพหย่าร้าง ก็ไม่ได้บั่นทอนสังคม หรือการที่มีปรากฏการณ์หญิงรักหญิง ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียสวัสดิภาพ ความมั่นคงของสังคม
ทาง ดร.ปณิ ธี บราวน์ สะท้อนไว้ในเวทีเสวนา อีกว่า... มีอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องเปลี่ยน นั่นคือการมองเรื่องเพศ อย่าได้มองว่านี่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เป็นเรื่องน่าอับอาย พูดถึงไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เด็ก วัยรุ่น ยิ่งอยากรู้อยากเห็น โดยแต่เดิมนั้นเรื่องเพศคือความอุดมสมบูรณ์แห่งชีวิต แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไป จึงมีผลกระทบกับคนที่ต้องไปเกี่ยวกับเรื่องเพศ ใครที่เข้าไปเกี่ยวข้องเร็วจะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี ทำอย่างไรที่เราจะปรับเปลี่ยนเรื่องเพศที่ถูกมองว่าน่าอับอาย โดยอยู่กับมันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ให้เป็นเรื่องของชีวิต??
“ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเมิดบรรทัดฐานบางเรื่องของสังคม แต่อย่างน้อยเมื่อเราเห็นคนที่เขาแตกต่างจากบรรทัดฐานทางเพศที่สังคมกำหนด ไว้ เรายอมรับเขาได้ ให้ที่ให้ทางและให้สิทธิกับเขาได้ หากคนในสังคมมองปรากฏการณ์แม่วัยรุ่น หญิงรักหญิง แบบเข้าใจมากขึ้น ไม่ได้มองเขาว่าเป็นปัญหาสังคมหรือมองว่าเป็นกลุ่มผิดปกติ มันจะทำให้คนกลุ่มนั้นสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น สันติสุขจะบังเกิดขึ้น” ...เป็นอีกบางส่วนจากเวทีเสวนา “ตัวตนใหม่ของผู้หญิงไทย” กับ “เรื่องทางเพศ”
ต่าง ๆ เหล่านี้แม้ว่าจะดูเป็นแง่มุมเชิงวิชาการ
แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และก็น่าคิด
ก็สะท้อนไว้...ให้สังคมไทยลองขบคิด?!?!?.