กรมชลฯ จัดงานเกี่ยวข้าว ตอกย้ำความสำเร็จ หลัง MOU ปรับปฏิทินเพาะปลูกลุ่มน้ำปากพนัง
กรมชลฯ จัดงานเกี่ยวข้าว ตอกย้ำความสำเร็จ หลัง MOU ปรับปฏิทินเพาะปลูกลุ่มน้ำปากพนัง
วันที่ 10 เมษายน 2568 กรมชลประทาน นำโดยนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายวิวัธน์ชัย คงลำธาร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 กลุ่มเกษตรกร ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้าวในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตอกย้ำความสำเร็จของโครงการปรับปฏิทินปลูกข้าวนาปีหลังน้ำลดในลุ่มน้ำปากพนัง (พื้นที่นำร่องอำเภอหัวไทร) ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และกลุ่มเกษตรกร ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ
สำหรับโครงการดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาข้าวขาดน้ำ ลดความเสียหายจากภัยแล้ง ซึ่งหลายฝ่ายได้
ร่วมกันกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำและช่วงเวลาในการเพาะปลูกใหม่ให้เหมาะสม โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประชุมร่วมกันหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเกษตรกรในพื้นที่ ครอบคลุม 6 อำเภอ ได้แก่ หัวไทร ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ ปากพนัง และเมืองนครศรีธรรมราช มีการกำหนดแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี ทำให้กรมชลประทานสามารถวางแผนจัดสรรน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการจัดการเกษตรกรรมเชิงระบบในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
ทั้งนี้ ในฤดูเพาะปลูกปี 2567/68 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากถึง 2,237 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 26,255 ไร่ โดยอำเภอหัวไทรเป็นพื้นที่นำร่อง มีเกษตรกรเข้าร่วมถึง 1,010 ครัวเรือน บนพื้นที่ประมาณ 10,350 ไร่ ผลจากการปรับปฏิทินทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 800 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นมากกว่า 1 ตันต่อไร่ และคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนเมษายน 2568
ในส่วนของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือปรับปฏิทินเพาะปลูกในครั้งนี้ นับเป็นต้นแบบของการบูรณาการระหว่างรัฐ ท้องถิ่น และเกษตรกร ในการบริหารจัดการน้ำ เป็นการวางรากฐานสู่การพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนในระดับพื้นที่ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวลุ่มน้ำปากพนังได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน




















