สงครามภาษีของสหรัฐฯเริ่มแล้วทั่วโลกวันนี้ !!! และไทยควรเล่นเกมอย่างไรให้ได้เปรียบ?
สงครามภาษีที่สหรัฐฯ เปิดฉากขึ้นภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งถูกกำหนดไว้สูงถึง 36% สูงกว่าจีนเสียอีก นี่เป็นสถานการณ์ที่บีบให้ไทยต้องพิจารณายุทธศาสตร์ใหม่ในการรับมือ เพราะการตอบโต้กลับโดยตรงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่สมเหตุสมผล ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังคงพึ่งพาสหรัฐฯ อย่างหนักโดยเฉพาะในภาคการส่งออก
ในสภาวะที่การเผชิญหน้าตรงๆ อาจไม่เกิดประโยชน์ ทางเลือกที่เหมาะสมกว่าคือการใช้กลยุทธ์การเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่ามกลางแรงกดดันนี้ ภาคเกษตรกรรมเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเปิดตลาดบางส่วนอาจเป็นทางออกที่รัฐบาลต้องเลือกเพื่อบรรเทาแรงกดดันจากสหรัฐฯ แต่ผลกระทบที่ตามมาอาจหมายถึงต้นทุนสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ ไทยยังอาจต้องพิจารณาการใช้สินค้าบางประเภทเป็นเครื่องมือในการเจรจา ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงการขอให้สหรัฐฯ ลดภาษีสินค้า A เพื่อแลกกับการที่ไทยจะเปิดตลาดให้สินค้า B ของสหรัฐฯ ซึ่งการเลือกสินค้า B จะต้องเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่คำนึงถึงทั้งผลประโยชน์และผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ขณะเดียวกัน สถานการณ์นี้ยังเปิดโอกาสให้ไทยหันไปขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ การที่หลายประเทศกำลังไม่พอใจกับนโยบายของทรัมป์ อาจเป็นโอกาสให้ไทยใช้บรรยากาศนี้เป็นประโยชน์โดยการสร้างพันธมิตรใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย หรือกลุ่มตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นแนวทางที่บางประเทศเริ่มนำมาใช้แล้ว อีกทางเลือกหนึ่งคือการเจรจาร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่นเดียวกับที่สหภาพยุโรปทำ เพราะการไปต่อรองแบบเดี่ยวๆ อาจไม่มีพลังมากเท่ากับการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่แข็งแกร่งขึ้น
มาตรการภาษีนี้ยังส่งผลต่อโครงสร้างต้นทุนของภาคธุรกิจไทย ผู้ผลิตจะต้องเลือกระหว่างการคงมาร์จิ้นไว้ซึ่งหมายถึงการขึ้นราคาสินค้า หรือการตรึงราคาเพื่อรักษาลูกค้าแต่ต้องยอมรับว่ากำไรจะลดลง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้อาจช่วยกระตุ้นการส่งออกในระยะยาว แต่ในระยะสั้นก็สร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการนำเข้า นี่เป็นอีกหนึ่งแรงผลักที่อาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตและการค้าไทย
ในขณะที่หลายฝ่ายอาจมองว่ามาตรการภาษีที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอเมริกันเอง แต่ในระยะสั้น ทรัมป์ใช้กลยุทธ์ที่นักเจรจาต่อรองชั้นเซียนมักใช้ นั่นคือการเปิดโต๊ะโดยตั้งอัตราภาษีไว้สูงมากแล้วค่อยลดลงหากได้ข้อแลกเปลี่ยนที่ต้องการ ซึ่งอาจหมายถึงแรงกดดันให้ไทยต้องยอมเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ หรือแม้แต่การซื้ออาวุธเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ดังนั้น สิ่งที่จะชี้วัดอนาคตของไทยในเกมเศรษฐกิจโลกนี้อยู่ที่ฝีมือของผู้นำไทยในการเจรจาต่อรองว่าจะสามารถรักษาสมดุลและใช้โอกาสจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
หมายเหตุ : ตัวอย่างการตั้งกำแพงภาษีเช่น ไทยโดนกำแพงภาษีใหม่ เป็น 36 เปอร์เซ็นต์ , จีนโดน 34 เปอร์เซ็นต์ และ กัมพูชา โดนไปเกือบๆ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น














