"ภูมิใจไทย" ไม่ร่วมสังฆกรรมแก้ รธน. "อนุทิน" ย้ำ ไม่กระทบความสัมพันธ์พรรคร่วม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไข ม.256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ ว่า พรรคภูมิใจไทยมีมติไม่ร่วมพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ เพราะเห็นว่า การบรรจุวาระเข้ามายังมีความขัดแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 ที่ระบุว่า ต้องมีการถามประชามติจากประชาชนก่อน ดังนั้น เมื่อการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 ก.พ.นี้ ขั้นตอนการทำประชามติยังไม่ได้รับการปฏิบัติ พรรคจึงเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงไม่สามารถที่จะไปรับฟังความคิดเห็นนั้นได้ เพราะพรรคภูมิใจไทยมี สส.ซึ่งพี่น้องประชาชนได้เลือกให้เข้ามาทำงาน ถึง 71 คน ซึ่งต้องทำงานจะไปรับความเสี่ยงโดยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้วไม่ได้
ส่วนจะไม่เข้าห้องประชุมเลยใช่หรือไม่ นายอนุทิน บอกว่า เราต้องไปร่วมประชุม เนื่องจากการประชุมมีหลายวาระทาง สส.ของพรรคจะไปลงว่ามาประชุม แต่จะไม่มีการร่วมการพิจารณาเรื่องดังกล่าว และคงจะมีการเรียนต่อประธานรัฐสภาให้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติของพรรคภูมิใจไทยเมื่อเข้าสู่การพิจารณาวาระดังกล่าว
ส่วนได้มีการคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องนี้แล้วหรือไม่ นายอนุทิน บอกว่า ไม่ได้คุยกับพรรคแกนนำ เพราะเรื่องนี้เป็นการนำเสนอของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผ่าน ครม. ไม่มีมติพรรคร่วม ไม่มีการหารือในพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรคเกี่ยวกับการเสนอกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐสภาล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เราไม่ได้ขวาง แต่เราต้องการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เราเป็นพรรคการเมืองจะทำขัดต่อกฎหมายไม่ได้
ส่วนเป็นห่วงว่าพรรคภูมิใจไทยจะเป็นแพะรับบาปขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอนุทิน บอกว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีทีมกฎหมาย มีที่ปรึกษากฎหมาย และมีบุคคลที่หารือข้อกฎหมายจำนวนมาก ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่า เสี่ยงไม่ได้ เพราะมีความขัดแย้งต่อคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
ซึ่ง สส.ทุกคนได้ออกความเห็น บางท่านออกความเห็นแม้กระทั่งไม่ควรไปลงชื่อร่วมประชุมด้วยซ้ำ แต่ตนบอกว่า ไม่ได้เพราะต้องไปทำงาน ต้องไปลงชื่อ ต้องไปประชุมส่วนจะมี สส. ส.ว. คิดแบบภูมิใจไทยหรือไม่ตนไม่ทราบ เพราะนี่คือแนวทางของพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว เราไม่ต้องการบอกให้ใครทำ เราไม่ได้สนใจว่าเราจะเป็นแพะหรือเป็นอะไร แต่เรามั่นใจว่าเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไม่แก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ต้องแก้ไขแต่ต้องเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดไว้
ส่วนหนึ่งในสองร่างเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย กลัวว่าจะมีปัญหากับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายอนุทิน บอกว่า เรื่องนี้ต้องแยกระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องนี้เป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติล้วนๆ เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่มีแนวทางของตัวเอง พรรคภูมิใจไทยเคยเสนอกฎหมายกัญชาเขาก็ไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ได้โวยวายอะไรเราก็รับสภาพ
ตนได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังนายกฯ แล้ว และแจ้งให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม รับทราบแนวทางของพรรคภูมิใจไทยว่าเป็นแบบนี้ ซึ่งนายชูศักดิ์บอกว่า ให้ดูหน้างาน ส่วนพรรคภูมิใจไทยจะเป็นหัวหอกในการไปยื่นให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่ นายอนุทิน บอกว่า ไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ สส.ทุกคนต้องรักษาอนาคตของตัวเองด้วย เขาต้องทำงานในพื้นที่ ต้องทำงานการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอย้ำว่าไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ตอนที่เสนอญัตตินี้เขาก็ไม่ได้มาถามเราว่าจะเห็นชอบด้วยหรือเห็นต่าง















