มาเลเซียและตุรกีหารือกันเรื่องฉนวนกาซา
การบูรณะเมืองกาซา ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงคราม เป็นหัวข้อสำคัญในการหารือระหว่างผู้นำ ในระหว่างการเยือนมาเลเซีย 2 วันของประธานาธิบดี "เรเจป ตายิป แอร์โดอัน" ผู้นำของตุรกี ซึ่งถือเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเขา ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี "อันวาร์ อิบราฮิม" โดยผู้นำทั้ง 2 ของประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ต่างแสดงความมุ่งมั่นของตนเอง ในการสร้างฉนวนกาซาขึ้นมาใหม่ และ การสนับสนุนที่พวกเขา จะมอบให้กับชาวปาเลสไตน์
ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกัน หลังการประชุมทวิภาคีที่เมืองปุตราจายา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2025 "อันวาร์ อิบราฮิม" กล่าวว่า "กัวลาลัมเปอร์พร้อมกับอังการา จะยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อการฟื้นฟูฉนวนกาซาต่อไป" และ "อย่างที่ผมได้กล่าวกับ "เรเจป ตายิป แอร์โดอัน" เมื่อไม่นานนี้ เราจะสนับสนุนความคิดริเริ่มของญี่ปุ่น ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูกาซา โดยพวกญี่ปุ่นได้ขอให้เรา ร่วมเป็นประธานแผนการฟื้นฟูเอเชียตะวันออก สำหรับกาซาและปาเลสไตน์"
ซึ่งรายละเอียดของกองทุน ซึ่งได้รับการประกาศครั้งแรก เมื่อเดือนมกราคม 2025 ยังคงไม่ได้รับการสรุปอย่างเป็นทางการ
ในขณะเดียวกัน "เรเจป ตายิป แอร์โดอัน" เน้นย้ำว่า "ตุรกีได้ส่งเรือมากกว่า 100 ลำ เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาแล้ว" และ "เราจะส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไปยังผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป" และ "กาซาและปาเลสไตน์เป็น 2 ประเด็น ที่มาเลเซียควรได้รับความชื่นชม"
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 กลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์ [ฮามาส] ได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,200 ราย และ จับตัวประกันไปมากกว่า 250 ราย ไปยังฉนวนกาซา
ข้อตกลงหยุดยิงบรรลุ ในเดือนมกราคม 2025 ก่อนที่ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ผู้นำของอเมริกา จะเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 2 โดยมีจุดประสงค์เพื่อยุติการสู้รบ และ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไปถึงผู้คนในฉนวนกาซาได้
ตลอดระยะเวลาของความขัดแย้ง "เรเจป ตายิป แอร์โดอัน" และ "อันวาร์ อิบราฮิม" แสดงความสนับสนุนชาวปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาสอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวว่า "ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ เกิดจากการที่อิสราเอลขับไล่ชาวปาเลสไตน์ ออกไปตั้งแต่ปี 1948" และ "อิสราเอลกับเราชาวมุสลิม ถือประวัติศาสตร์กันคนละเล่ม"
ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2025 ที่ประเทศมาเลเซีย "เรเจป ตายิป แอร์โดอัน" กล่าวถึงการยึดครองฉนวนกาซาของอิสราเอล ว่าเป็นปัญหาหลัก และ เรียกร้องให้อิสราเอลยึดมั่นตามคำมั่นสัญญา ที่จะออกจากฉนวนกาซา ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิง พร้อมทั้งย้ำถึงการเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ โดยมีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวงด้วย!!
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2025 กลุ่มฮามาสประกาศว่าจะหยุดปล่อยตัวตัวประกันชาวอิสราเอล จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบเพิ่มเติม เนื่องจากกลุ่มฮามาสกล่าวหาว่าอิสราเอล ละเมิดข้อตกลงหยุดยิง และ เพื่อตอบโต้ อิสราเอลได้เรียกร้องให้กองทัพ เตรียมพร้อมรับมือกับ "สถานการณ์ใดๆที่อาจเกิดขึ้น" ในฉนวนกาซา...
ในระหว่างการบรรยายพิเศษต่อสาธารณะ ที่เมืองปุตราจายา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2025 "เรเจป ตายิป แอร์โดอัน" กล่าวว่า "ผมต้องการให้อิสราเอลรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการสร้างเมืองกาซา ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 100,000 ล้านดอลลาร์"
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2025 "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้เสนอแผนพิเศษเพื่อให้อเมริกา เข้ายึดครองฉนวนกาซา โดยให้ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 2 ล้านคน ย้ายไปอยู่ในประเทศอื่น และ เปลี่ยนดินแดนดังกล่าวให้เป็น "ริเวียร่าแห่งตะวันออกกลาง" ซึ่งทำให้ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากประเทศสำคัญๆ ในยุโรปและโลกอิสลาม
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2025 ผู้นำมาเลเซียและตุรกีได้ยืนยันถึง ความสัมพันธ์ทวิภาคีอันแน่นแฟ้น ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ โดย "เรเจป ตายิป แอร์โดอัน" ได้มอบรถยนต์ไฟฟ้า Togg T10X ที่ผลิตในตุรกี ให้กับ "อันวาร์ อิบราฮิม" วัย 77 ปี เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและมิตรภาพ ก่อนหน้านี้ ผู้นำมาเลเซียได้ขับรถสปอร์ตอเนกประสงค์ สีขาวคันดังกล่าว ไปร่วมแถลงข่าวร่วมกัน
ผู้นำทั้งสอง ยังได้ให้คำมั่นที่จะเพิ่มการค้าทวิภาคี เป็น 2 เท่าจาก 5.28 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2024 เป็น 10 พันล้านดอลลาร์ในอนาคต ถึงแม้จะไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนก็ตาม...
กัวลาลัมเปอร์และอังการา เสริมความแข็งแกร่งให้กับความร่วมมือ ด้านการป้องกัน และ ความมั่นคงด้วยการ แลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจและข้อตกลง 11 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ตกลงกัน คือ การจัดหาเรือปฏิบัติการอเนกประสงค์ สำหรับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของมาเลเซีย จากอู่ต่อเรือดีแซน ในอิสตันบูล
เมื่อเดือนมิถุนายน 2024 กองทัพเรือมาเลเซีย จัดหาเรือลำเลียงชายฝั่งชุดที่ 2 จำนวน 3 ลำ จากบริษัทป้องกันประเทศของตุรกี "วิศวกรรมเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ" เพื่อรับมือกับการรุกล้ำของจีน ในเขตน่านน้ำของมาเลเซีย
ประธานสถาบันนานาชาติ เพื่อการศึกษาอิสลามขั้นสูง "มาสลี มาลิก" ของมาเลเซีย กล่าวว่า "ผู้นำอิสลามโลกทั้งสอง ต่างมีเส้นทางชีวิตส่วนตัวที่เหมือนกัน และ มีมิตรภาพที่ใกล้ชิด พวกเขาเป็นสัญลักษณ์แห่งความเพียรพยายาม ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และ ความรับผิดชอบต่อประชาธิปไตย การจำคุก การปราบปราม และ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เคยหยุดยั้งพวกเขาจากการแสวงหาวิสัยทัศน์ ในการสร้างประเทศที่ดีขึ้นสำหรับ ประชาชนและมนุษยชาติโดยรวม"
"มาสลี มาลิก" กล่าวเสริมว่า "ความร่วมมือทวิภาคีในประเด็นฉนวนกาซา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมโลก ที่มีหลายวัฒนธรรมและหลายขั้ว ที่จะเข้ามาแทนที่อารยธรรมตะวันตก ที่มีอำนาจเหนือโลกแบบขั้วเดียวในปัจจุบัน"
















