ซีรีส์วายไทยมาแรง ติดเทรนด์โลก ทำตลาดหนัง-ซีรีส์วายเติบโตก้าวกระโดด สร้าง Soft power ให้ประเทศไทย
ซีรีส์วาย เป็นประเภทของซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน โดยเป็นได้ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชายและชาย หรือ Boy love และความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและหญิง หรือ Girl love คำว่าวายมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นประเภท YAOI ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายและชาย และ Yuri ซึ่งแสดงถึงความรักระหว่างหญิงและหญิง ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มนักอ่าน ทำให้ถูกดัดแปลงเป็นการ์ตูนแอนิเมชันและซีรีส์ในปัจจุบัน ซีรีส์วาย กำลังเป็นกระแสมาแรงในยุคแห่งความเท่าเทียม และไม่ได้เป็นกระแสเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังไปในระดับโลกด้วย อีกทั้งความนิยมของซีรีส์วายยังมีแนวโน้มยกระดับความแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตคอนเทนต์สายวายกลายเป็นธุรกิจที่ผลักดันให้ธุรกิจสื่อบันเทิงไทยเดินหน้าเติบโตได้ไกลกว่าเดิมในระยะข้างหน้า
ที่ผ่านมารายได้รวมของผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2568 ราว 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า มูลค่ากว่า 4,900 ล้านบาท ตามกระแสความนิยมของซีรีส์วายไทย ทั้ง Boy love และ Girl love ที่เพิ่มขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้สื่อบันเทิงของไทยเข้าถึงผู้ชมผ่านทางออนไลน์จากบริการ OTT หรือ Over The Top หรือสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มได้มากขึ้น
แม้ปัจจุบันรายได้ของผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายจะมีสัดส่วนต่อมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมไม่สูงนัก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จาก 0.7% ในปี 2562 มาเป็น 3.0% ในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 3.9% ในปี 2568 สะท้อนว่าธุรกิจภาพยนตร์และซีรีส์วายเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมให้เติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงธุรกิจซีรีส์วาย ซึ่งมีรายได้เติบโดดอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2563 สวนทางกับการผลิตสื่อบันเทิงของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ทำให้การผลิตสื่อบันเทิงบางส่วนต้องหยุดลงชั่วคราว
จากความสำเร็จของซีรีส์วายที่มีฐานผู้ชมอยู่ทั่วโลกบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ผู้ผลิตสื่อบันเทิงไทยหันมาผลิตซีรีส์วายเพิ่มขึ้นและถือได้ว่าการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงให้ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับสู่ระดับปกติในปี 2566 อีกทั้งยังเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ เช่น ธุรกิจให้เช่าสถานที่ถ่ายทำ ธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์ถ่ายทำ และธุรกิจหลังการถ่ายทำ อย่างอุปกรณ์สาหรับตัดต่อวีดีโอด้วย
ซีรีส์วายไทย จึงมีส่วนช่วยผลักดันมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมให้เติบโต โดยคาดว่าในปี 2568 จะขยายตัวราว 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ 1.26 แสนล้านบาท จากผลตอบรับที่ดีของซีรีส์วายไทยจากผู้ชมในหลายประเทศ ทำให้ซีรีส์วายถูกผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกระแสซีรีส์วายของไทยกำลังเติบโตและครองใจฐานผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว ไม่เพียงเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมในต่างประเทศด้วย จากการรับชมได้พร้อมกันทั่วโลกผ่านสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มยอดนิยม เช่น Youtube, WeTv, iQiYi, VIU รวมถึงแพลตฟอร์มที่นำเสนอเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ อย่าง GagaOOLala จนทำให้ซีรีส์วายไทยติดเทรนด์โซเชียลมีเดียในหลายประเทศ และในช่วงเวลาออกอากาศ ดังนั้น ด้วยกระแส ตอบรับที่ดีจากผู้ชมทั่วโลก จึงดึงดูดให้ผู้ผลิตสื่อบันเทิงของไทยสนใจเกาะกระแสความนิยมหันมาผลิตซีรีส์วายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะซีรีส์ Boy love ที่ออกอากาศมากกว่าปีละ 50 เรื่องตั้งแต่ปี 2565 ทำให้จนถึงปัจจุบัน ไทยมีภาพยนตร์ ซีรีส์ และเรื่องสั้น Boy love ที่ออกอากาศรวมแล้วมากกว่า 300 เรื่อง โดยในปี 2567 ไทยถือสัดส่วนราว 55% ของซีรีส์ Boy love ที่ออกอากาศทั้งหมดในเอเชีย รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่มีสัดส่วนรวมกันราว 28% และเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดซีรีส์วายด้วย ขณะที่ซีรีส์ Girl love ของไทยก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากสถิติยอดรับชมบน Youtube ในปี 2567 ภาพยนตร์ ซีรีส์ และเรื่องสั้น Girl love ของไทยออกอากาศมากกว่า 40 เรื่อง หรือคิดเป็น 60% ของเอเชีย รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานผู้ชมสาคัญของซีรีส์วายไทย
ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ซีรีส์วายไทยได้รับความนิยมอย่างมากด้วยฐานผู้ชมในไทยที่เหนียวแน่นและขยายความนิยม ไปในต่างประเทศอีกหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ การนำเสนอเรื่องราวที่สามารถแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้อย่างเปิดเผย เนื่องจากวัฒนธรรมของไทยที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศและเปิดกว้างให้กับการแสดงออกถึงตัวตนของกลุ่ม LGBTQIA+ บนสื่อบันเทิง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลสำรวจความคิดเห็นต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ในปี 2567 ของ Ipsos จากกลุ่มตัวอย่างใน 23 ประเทศทั่วโลก พบว่า คนไทยมีมุมมองที่สนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในหลายด้าน เช่น การคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ การสมรสเท่าเทียม และการอุปการะบุตรบุญธรรมของคู่รักเพศเดียวกัน อีกทั้ง กลยุทธ์ Fan service อย่างการแสดงออกอย่างเปิดเผยถึงความสนิทสนมของนักแสดงวายในงานอิเวนต์ต่าง ๆ เช่น งานเปิดตัวซีรีส์ และงานแฟนมีต ทำให้ผู้ชม จิ้น หรือจินตนาการ ถึงความสัมพันธ์ของนักแสดง จึงเป็นอีกแรงเสริมที่ทำให้ซีรีส์วายและนักแสดงของไทยได้รับความนิยมเกินคาด
การสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อเรื่องแปลกใหม่ตลอดเวลา ด้วยผลงานใหม่ที่ออกมามากกว่าปีละ 50 เรื่อง สะท้อนถึงการแข่งขันที่สูงของตลาดซีรีส์วายไทย และเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตซีรีส์ต้องสร้างสรรค์ผลงาน ที่แตกต่างและมีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเนื้อเรื่อง บทละคร และเทคนิคการถ่ายทำ ซึ่งปัจจุบัน นอกจากการนำเสนอเนื้อหาในมุมมองความรักที่สดใสของกลุ่มวัยรุ่นแล้ว ผู้ผลิตซีรีส์วายยังเริ่มนำเสนอเนื้อหาในหลากหลายแนวทั้งแนวดรามา แอ็กชัน สืบสวนสอบสวน แฟนตาซี นอกจากนี้ยังนำประเด็นทางสังคมที่สำคัญ เข้ามาสอดแทรกในเนื้อเรื่องมากขึ้น เช่น การขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ การตีแผ่ปัญหาทางสังคม จึงทำให้ซีรีส์วายไทยในทุกวันนี้มีตัวเลือกที่หลากหลายและน่าติดตามมากขึ้น
ความนิยมของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมเป้าหมายได้ง่ายขึ้น จากการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบทั้งในภาพรวมของโลกและไทย ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยจากข้อมูลของสมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA ตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก พบว่า อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของโลกเติบโตจาก 50% ในปี 2561 เป็น 66% ในปี 2567 และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทยเติบโตจาก 58% ในปี 2561 เป็น 88% ในปี 2567 ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การรับชมความบันเทิงผ่านทางออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนได้จากจำนวนผู้ใช้บริการสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มที่เติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ผู้ใช้บริการ Netflix เติบโตราว 11.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และแพลตฟอร์ม GagaOOLala มีจำนวนผู้ใช้บริการเติบโตสูงถึง 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะผู้ใช้บริการจากอินเดียที่เพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ในปี 2567 ผู้ใช้บริการ WeTV เติบโตสูงถึงกว่า 14%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ชมภาพยนตร์และซีรีส์วายยังได้สร้างชุมชนออนไลน์บนสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อบอกต่อซีรีส์ที่ชื่นชอบ บอกเล่าความรู้สึก และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างรับชมซีรีส์ในช่วงออกอากาศ รวมถึงอัพเดตตารางงานของนักแสดงเพื่อนัดรวมกลุ่มให้กาลังใจในอิเวนต์ต่าง ๆ ทำให้เกิดเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์และกระแสความนิยมนักแสดงตามมาด้วย ความสำเร็จของซีรีส์วายไทยนอกจากจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงของไทยเติบโตแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสให้ธุรกิจอื่นเกาะกระแสซีรีส์วายเติบโตตามไปด้วย เช่น
ธุรกิจหนังสือทั้งในรูปแบบเล่มและแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ e-book โดยซีรีส์วายหลายเรื่องถูกดัดแปลงมาจากนิยายหรือการ์ตูนที่ได้รับความนิยมของนักอ่านมาก่อน เช่น วันดีวิทยา, 23.5 องศาที่โลกเอียง และ PLUTO นิทาน ดวงดาว ความรัก เป็นต้น ทำให้ซีรีส์ที่นำเค้าโครงเรื่องมาจากนิยาย หรือการ์ตูนวาย ได้รับความสนใจจากฐานผู้อ่านเดิม และในทางกลับกันยังช่วยดึงดูดผู้ชมซีรีส์ให้สนใจมาอ่านนิยายและการ์ตูนต้นฉบับได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักเขียนและนักวาดการ์ตูนในการขยายฐานผู้อ่าน และสร้างสรรค์ผลงานแนวใหม่ออกมามากขึ้น ปัจจุบันมีนิยายวาย ทั้งชายรักชาย และหญิงรักหญิง วางขายในเว็บไซต์ขายหนังสือและแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 3,800 เรื่อง ประกอบกับข้อมูลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52 ในช่วงเดือน เม.ย. 2567 2024 พบว่า นิยายวายได้รับความสนใจจากผู้อ่านเป็นอันดับสองหรือราว 21% รองจากนิยายทั่วไป สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมซีรีส์และนิยายวายของไทยที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ข้อมูลของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จาหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้ปัจจุบันสัดส่วนมูลค่าหนังสือนิยาย ชายรักชาย และหญิงรักหญิง จะมีเพียง 30% ของมูลค่าหนังสือนิยายทั้งหมด แต่ฐานผู้อ่านนิยายวายค่อนข้างเหนียวแน่น และพร้อมจ่ายแม้ราคาเฉลี่ยต่อเล่มจะสูงกว่านิยายทั่วไป ซึ่งความร่วมมือระหว่างธุรกิจหนังสือและผู้ผลิตซีรีส์วายจะช่วยดึงดูดแฟนซีรีส์ให้หันมาอ่านหนังสือมากขึ้น
ธุรกิจต่อเนื่องจากการโปรโมตซีรีส์วาย เช่น กิจกรรมแฟนมีต คอนเสิร์ต และงานเปิดตัวซีรีส์ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) หรือธุรกิจจัดอิเวนต์ รวมถึงธุรกิจให้เช่าสถานที่จัดงานอิเวนต์ด้วย จากตัวเลขงานอิเวนต์ซีรีส์วายของ GMMTV ซึ่งเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายรายใหญ่ของไทยในช่วงปี 2566-2567 มีไม่น้อยกว่า 35 งานในไทยทั้งการจัดงานให้เหล่าแฟนคลับได้ร่วมนั่งชมตอนสุดท้ายของซีรีส์พร้อมกันกับนักแสดง งานแฟนมีต งานคอนเสิร์ต ซึ่งยังไม่รวมแฟนมีตและคอนเสิร์ตที่จัดในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ TCEB ได้คาดการณ์มูลค่าตลาดธุรกิจจัดอิเวนต์ของไทยในปี 2568 จะอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจที่ได้อานิสงส์ยังรวมถึงการผลิตสินค้าและของที่ระลึกจากซีรีส์ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ โปสเตอร์ โฟโต้บุ๊ก และสินค้าที่ตัวละครใช้ในซีรีส์อย่างตุ๊กตา พวงกุญแจ ผ้าห่ม แก้วน้า เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มแฟนคลับนักสะสม อีกทั้ง กลุ่มแฟนคลับซีรีส์วายยังมีวัฒนธรรมให้กาลังใจศิลปินระหว่างการถ่ายทาผลงานและโอกาสพิเศษต่าง ๆ ด้วยการส่ง Food support (เป็นการสนับสนุนศิลปินจากแฟนคลับในรูปแบบหนึ่ง) ทั้งอาหารและเครื่องดื่มให้กับศิลปินตามงานคอนเสิร์ต งานโปรโมตผลงานใหม่ และวันเกิดศิลปิน จึงทำให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในรูปแบบ Food truck ได้รับผลบวกตามไปด้วย
ธุรกิจโฆษณา ทั้งสื่อโฆษณาวิทยุและโทรทัศน์ สื่อโฆษณาออนไลน์ และสื่อโฆษณานอกบ้าน ด้วยเจ้าของแบรนด์สินค้าตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงแบรนด์สินค้าระดับ Luxury ของโลกต่างเกาะกระแสทุ่มเม็ดเงินโฆษณาดึงนักแสดงวายมาเป็น Presenter หรือ Brand ambassador สินค้ามากขึ้น ด้วยฐานแฟนคลับของนักแสดงสายวายที่ค่อนข้างเหนียวแน่นและมีอยู่ทั่วโลกสะท้อนจากยอดผู้ติดตามโซเชียลมีเดีย เช่น Instagram ของนักแสดงสายวายหลายคนที่สูงกว่า 5 ล้านคน และบางคนทะลุ 10 ล้านคน ทำให้นักแสดงวายกลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือ Influencer ของแฟนคลับ ซึ่งส่งเสริมให้แบรนด์สินค้าที่มีนักแสดงสายวายเป็น เป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือ แบรนด์แอมบาสเดอร์ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สื่อโฆษณานอกบ้านยังได้รับผลบวกต่อเนื่องจากกระแสซีรีส์วาย เนื่องจากสื่อโฆษณานอกบ้านถือเป็นแพลตฟอร์มกลางที่นิยมใช้สาหรับสื่อสารระหว่างแฟนคลับกับเหล่านักแสดงคนดังที่มักใช้ป้ายโฆษณาในการทักทาย แสดงความชื่นชมและสนับสนุน อีกทั้ง เหล่านักแสดงก็ใช้ป้ายโฆษณาเพื่อแสดงความขอบคุณกลุ่มแฟนคลับของพวกเขาด้วยเช่นกัน
ธุรกิจอื่นที่ได้อานิสงส์จาก Soft power ของความโด่งดังของซีรีส์วาย โดยปรากฏการณ์ซีรีส์วายทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของผู้ชมซีรีส์ทั่วโลกมากขึ้น และช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจอื่น ๆ ตามมาด้วย อาทิ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอย่างโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยว และสายการบิน จากการเดินทางมาตามรอยสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ และการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์วายในไทยของแฟนคลับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวสามารถเจาะตลาดใหม่นำเสนอบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มแฟนคลับซีรีส์วาย โดยเฉพาะอย่างเช่นการทำแพ็กเกจทัวร์ตามรอยซีรีส์ แพ็กเกจที่พักพร้อมรถรับส่งสถานที่จัดงานคอนเสิร์ตหรือแฟนมีต หรือการร่วมมือกับผู้จัดอิเวนต์นำเสนอแพ็กเกจที่พักพร้อมบัตรเข้าคอนเสิร์ต หรือแฟนมีต
แม้ซีรีส์วายถือเป็นหนึ่งในธุรกิจสื่อบันเทิงของไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสพัฒนาไปได้อีกไกลในอนาคต โดยเฉพาะการขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดใหม่ที่มีความสนใจซีรีส์วายไทยมากขึ้น แต่โอกาสที่ดีย่อมมาพร้อมกับการแข่งขันที่สูงตามมา ซึ่งผู้ผลิตซีรีส์วายไทยจะต้องเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตในตลาดใหม่และรักษาฐานผู้ชมในตลาดเดิมให้ได้ต่อเนื่อง
โดยผู้ผลิตซีรีส์วายไทยต้องเข้าถึงและเข้าใจผู้ชมที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อคว้าโอกาสในการเจาะตลาดใหม่ ทั้งการเพิ่มคำบรรยายภาษาที่หลากหลายกว่าเดิม เช่น ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส และภาษาฮินดี รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้ซีรีส์วายไทยสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องแล้ว ปัจจุบันสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างประเทศยังร่วมลงทุนกับผู้ผลิตซีรีส์คุณภาพในการผลิตซีรีส์วายที่มีรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายตอบโจทย์ผู้ชมกลุ่มศักยภาพใหม่ของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเอง ซึ่งการร่วมลงทุนนี้ ผู้ผลิตซีรีส์วายไทยยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับทีมงานต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพผลงานที่ดีขึ้น และเข้าใจความต้องการของผู้ชมในตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย
ขณะที่ความท้าทายสำคัญคือการรักษาฐานผู้ชมในตลาดเดิมให้คงอยู่ได้ในระยะยาว เนื่องจากผู้ผลิตซีรีส์วาย มีแนวโน้มต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ตามกระแสความแรงของซีรีส์วายที่ดึงดูดให้ผู้ผลิตซีรีส์ของประเทศอื่น เริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะไต้หวันและญี่ปุ่นที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย เนื่องจากวัฒนธรรมของคนไต้หวัน และญี่ปุ่นเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น รวมถึงเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้นาการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ในเอเชีย ก็เริ่มให้ความสนใจตลาดซีรีส์วายด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ผลิตซีรีส์วายของไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันที่จะเข้มข้นขึ้น อาทิ การคงเสน่ห์เฉพาะตัวของซีรีส์วายไทยที่ยังสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทั่วโลกด้วยการสอดแทรกวัฒนธรรมไทยควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพผลงานด้วยการนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลาย และนำเทคนิคการถ่ายทำที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้น ซึ่งการสร้างซีรีส์ที่มีความหลากหลายในเนื้อหาก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ซีรีส์วายไทยสามารถขยายฐานผู้ชมได้กว้างขึ้นด้วย
ปัจจุบันภาครัฐได้มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงในภาพรวม โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปี และยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์จำเป็น สำหรับผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ลงทุนเพิ่มเติมและลงทุนใหม่ ในธุรกิจโรงถ่ายภาพยนตร์ หรือ Studio, ผู้ผลิตภาพยนตร์ และกลุ่มบริการธุรกิจภาพยนตร์ เช่น ให้เช่าอุปกรณ์ สถานที่ถ่ายทำ และรับตัดต่อ เป็นต้น แต่การสนับสนุนซีรีส์วายไทย ยังอยู่ภายใต้นโยบายซอฟต์เพาเวอร์ ผ่านการออกงาน Roadshow โปรโมตในต่างประเทศ อย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP ที่สนับสนุนให้ผู้ผลิตซีรีส์วายเดินทางไปเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ซีรีส์ในตลาดต่างประเทศ แต่การสนับสนุนการผลิตซีรีส์วายไทยอย่างเป็นรูปธรรมนั้นยังอยู่ระหว่างการกำหนดนโยบายหลังได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านละครและซีรีส์ไทยแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
หากภาครัฐพิจารณานโยบายสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายไทยเพิ่มเติม จะช่วยพัฒนาคุณภาพซีรีส์ของไทย และเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐในหลายประเทศที่กำหนดนโยบายสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ ได้แก่
การกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนในการผลิตให้มากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ที่มีคุณภาพที่ดี ทั้งด้านเนื้อหา การถ่ายทำ และการตัดต่อ จาเป็นต้องใช้เงินทุนที่สูง ขณะที่การผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ของไทยยังคงมีข้อจำกัด ด้านเงินทุนผลิตต่อเรื่องที่ต่ำกว่าประเทศอื่น เนื่องจากยังคงพึ่งพาแหล่งเงินลงทุนของผู้ผลิตและนักลงทุนเป็นหลัก โดยจากข้อมูลของ Nash Information Services ซึ่งเป็นบริษัทให้คาปรึกษาและบริการข้อมูลด้านธุรกิจผลิตสื่อบันเทิง พบว่า การผลิตภาพยนตร์ไทยมีเงินทุนต่อเรื่องอยู่ที่ราว 7.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 250 ล้านบาท ขณะที่การผลิตภาพยนตร์ของเกาหลีใต้มีเงินทุนต่อเรื่องสูงกว่าไทยกว่าเท่าตัวอยู่ที่ราว 16.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 580 ล้านบาท ซึ่งเงินทุนบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านกองทุนสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ทาให้ผู้ผลิตสื่อบันเทิงสามารถผลิตภาพยนตร์คุณภาพสูงได้
ดังนั้น การปรับใช้นโยบายภาครัฐที่เหมาะสมในการส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทย จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ เช่น
การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ที่ถ่ายทำในประเทศ เช่นเดียวกันกับสหราชอาณาจักรที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษี 25% ของค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่มีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 15 ล้านปอนด์ ทำให้ผู้ผลิตกล้าทุ่มเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นเพื่อผลิตซีรีส์ฟอร์มใหญ่ อีกทั้ง ความนิยมของซีรีส์ยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของเมืองทั้งการท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ถ่ายทำ และทัวร์สตูดิโอ ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวในระยะยาวได้ การขยายนโยบายคืนเงินค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนตร์ให้ครอบคลุมภาพยนตร์และซีรีส์วายของผู้ผลิตชาวไทย เช่นเดียวกับการคืนเงินสูงสุดไม่เกิน 20% ให้กับการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 50 ล้านบาท โดยภาครัฐอาจพิจารณาปรับเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ของไทย เช่น การปรับการกำหนดวงเงินขั้นต่ำ การสอดแทรกเนื้อหาที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่หรือจังหวัดเมืองรอง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ต่อเรื่อง และเป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของภาพยนตร์และซีรีส์ไทยให้ดีขึ้นได้
สนับสนุนการเผยแพร่สื่อบันเทิงไทยในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศและขยายฐานผู้ชมให้กว้างขึ้น อาทิ การอำนวยความสะดวกและสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ผลิตและนักแสดงภาพยนตร์และซีรีส์วายที่มีศักยภาพส่งออกในการเดินทางไปเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและงานจับคู่ธุรกิจเพื่อซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือซีรีส์ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายพัฒนาคุณภาพผลงานให้ดียิ่งขึ้นพร้อมแข่งขันในตลาดต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
นโยบายอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตซีรีส์วาย เช่น การสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วาย ของไทยมีโอกาสร่วมงานกับผู้ผลิตซีรีส์วายต่างประเทศอย่างเกาหลี, ญี่ปุ่น และไต้หวัน เช่นเดียวกับรัฐบาลฮ่องกง ที่เป็นสื่อกลางให้ผู้สร้างภาพยนตร์ท้องถิ่นและต่างประเทศได้ทางานร่วมกันพร้อมสนับสนุนเงินทุนต่อโครงการสูงสุด 9 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ผลิตซีรีส์ท้องถิ่นโดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเรียนรู้เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพได้
แม้กระแสซีรีส์วายของไทยจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมในหลายประเทศ แต่การขับเคลื่อนซีรีส์วายของไทยให้เติบโตต่อเนื่องอย่างมีศักยภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพผลงานของผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วาย เพื่อยกระดับให้ภาพยนตร์และซีรีส์วายไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง กระแสความนิยมของภาพยนตร์และซีรีส์วายยังช่วยสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมด้วย