จากการศึกษาพบว่าวิดีโอออกกำลังกายบน TikTok ได้สร้างค่านิยมผิดๆให้วัยรุ่น เช่นผู้หญิงต้องผอม ผู้ชายต้องมีกล้าม
ในปัจจุบันนี้ วันๆหนึ่งเราใช้เวลาไถดู Tiotok กันวันละเท่าไหร่กันบ้าง เชื่อว่าหลายคนคงไม่กล้าบอก เพราะเนื้อหาในนั้นมีทั้งเรื่องจริงและไม่จริงปะปนกันไป รวมถึงค่านิยมอะไรบางอย่างที่เราเผลอซึมซับเข้าไปแบบไม่รู้ตัว เพราะล่าสุด การศึกษาที่ดำเนินการโดยนักวิจัยจาก Flinders University ในออสเตรเลียชี้ว่า เนื้อหาเกี่ยวกับออกกำลังกายใน Tiktok อาจทำให้ความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างของตัวเองเลยเถิดเกินขอบเขต โดยปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Fitspo ที่หมายถึง ภาพและวิดีโอที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉงและสุขภาพดีผ่านการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โดยเนื้อหาประเภท Fitspo มักเผยแพร่โดยวัยรุ่นที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านออกกำลังกาย แต่ยัง ขาดคุณวุฒิ และมักใช้ข้อมูลที่กระตุ้นอารมณ์และชี้นำผิดๆ ส่งเสริมเนื้อหามองผู้หญิงในเชิงวัตถุ ชวนฝันถึงรูปร่างร่างกายในอุดมคติ ซึ่งกำลังสร้างปัญหาด้านภาพลักษณ์ของร่างกาย โดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิงวัยรุ่น นักวิจัยกังวลว่า TikTok ได้ส่งเสริมมุมมองที่อุดมคติของรูปร่าง ที่เป็นเหตุให้เกิดความกังวลว่าสิ่งนี้อาจสร้างปัญหาด้านภาพลักษณ์ผิดๆ ของร่างกายผู้หญิง เนื่องจากเนื้อหามักนำเสนอภาพผู้หญิงผอม และการควบคุมอาหารแบบผิดๆ แสดงให้เห็นว่าความผอมยังคงค่านิยมหลักในผู้หญิง แม้สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจของพวกเธอได้ก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ชายเองก็ถูกทำให้กลายเป็นวัตถุทางเพศในวิดีโอเหล่านี้เช่นกัน โดยอินฟลูเอนเซอร์ชาย มักมีรูปร่างกล้ามเนื้อมากเกินพอดี และเน้นปั้นร่างกายที่แข็งแรงแต่น้ำหนักไม่สมดุล ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งหมดนี้ ผู้เชี่ยวชาญกังวลเกี่ยวกับผลกระทบ เนื่องจาก TikTok มีฐานผู้ใช้ที่เป็นวัยรุ่นจำนวนมาก และถ้าวัยรุ่นทำตามค่านิยมผิด ๆ ออกกำลังกายและกินอย่างไม่ถูกวิธีตามอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ อาจทำให้เรื่องสุขภาพของคนรุ่นใหม่ตกอยู่ในความเสี่ยง