ภาวะโลกร้อนทำเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห้งขอด ทำให้ประเทศเอกวาดอร์ต้องดับไฟวันละ 14 ชั่วโมง
ใครจะคิดภาวะโลกร้อนจะทำให้บางประเทศต้องเจอกับภาวะไฟฟ้าดับไปวันละ 14 ชั่วโมง โดยตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา เอกวาดอร์ต้องเผชิญกับเหตุไฟฟ้าดับทุกวันนานถึง 14 ชั่วโมง พื้นที่สาธารณะที่เคยมีแสงสว่างกลับกลายเป็นความมืดมิด ชุมชนหลายแห่งไม่มีน้ำประปาใช้ แม้แต่อินเตอร์เน็ตก็ไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ประเทศต้องสูญเสียผลผลิตและรายได้อย่างน้อย 12 ล้านดอลลาร์ต่อทุกๆ 1 ชั่วโมงที่ไฟดับ เอกวาดอร์นับเป็นหนึ่งในประเทศอเมริกาใต้ที่มีความเชื่อมั่นว่า เขื่อนที่พวกเขาสร้างเพื่อกักเก็บเป็นแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ จะสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นได้ ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ผู้คนนับล้านหลุดพ้นจากความยากจน ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2550 ราฟาเอล คอร์เรอา ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายคนใหม่เข้ารับตำแหน่งพร้อมคำมั่นสัญญาที่จะสร้างชาติที่ทันสมัยและใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังประเทศประสบกับวิกฤตพลังงานมาเป็นเวลานาน หนึ่งในนั้นคือการลงทุนเงินหลายพันล้านดอลลาร์สร้างเขื่อนผลิตพลังงานสะอาดที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันหรือก๊าซ หวังบรรเทาเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โครงการพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่นับสิบโครงการ ได้ทำให้กำลังการผลิตพลังงานโดยรวมของเอกวาดอร์เพิ่มขึ้นประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ก่อนที่รัฐบาลหลายชุดต่อมาจะถูกตำหนิว่าล้มเหลวในการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงและไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย จนกระทั่งล่าสุด เอกวาดอร์ได้เผชิญกับภัยแล้งครั้งใหญ่ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้แม่น้ำและอ่างเก็บน้ำแห้งขอด ไม่เพียงพอต่อการผลิตพลังงาน และส่งผลให้ระบบไฟฟ้าของประเทศใกล้จะพังทลาย ขณะที่ประธานาธิบดีดาเนียล โนโบอา ซึ่งจะเผชิญกับการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ได้ให้คำมั่นว่า จะยุติการตัดไฟนับตั้งแต่เดือนนี้ และจะแก้ปัญหาด้วยการซื้อพลังงานสะอาดจากประเทศโคลอมเบียที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาวิกฤตพลังงานได้