เรื่องน่ารู้สำหรับคนชอบนวด 🧐🧑🏻⚕️💆🏻♀️ นวดไทยกับภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิตที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
เรื่องน่ารู้สำหรับคนชอบนวด 🧐🧑🏻⚕️💆🏻♀️
นวดไทยกับภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิตที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
การนวดกับวัยทำงานมักเป็นของคู่กัน เพราะเมื่อนั่งทำงานนานๆ อาการปวดเมื่อยตามจุดต่างๆ ของร่างกายก็ถามหา การไปหาหมอนวดแผนไทยก็ช่วยตอบโจทย์อาการคลายเมื่อยได้เป็นอย่างดี แต่มีน้อยคนที่จะรู้ว่าการนวดไทยก็มีอันตรายถึงชีวิตด้วยเช่นกัน หากไม่ระวัง
แต่หลายคนมักจะมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการนวดไทยว่า ยิ่งกดแรง บีบแรง หรือรีดเส้นแรงๆ ยิ่งช่วยให้คลายความปวดเมื่อยได้ดีกว่าการนวดด้วยแรงปกติ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดและอันตรายต่อผู้ถูกนวดมาก โดยเฉพาะจุดที่บอบบางในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บ ฟกช้ำ กระดูกหัก พิการ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งจุดที่บอบบางต่อการนวดมีทั้งหมด 8 จุดด้วยกัน
8 จุดบอบบางต่อการนวด
— ศีรษะ บริเวณที่บางที่สุดของกะโหลกคือบริเวณทัดดอกไม้ หรือด้านข้างจากขมับ การนวดแรงๆ สามารถทำให้กะโหลกแตกยุบ และกดเส้นประสาททำให้สมองตาย หรือพิการ รวมถึงการนวดให้เด็กซึ่งกลางกระหม่อมยังไม่แข็งแรงอาจก่อให้สมองได้รับอันตราย
—ใบหน้า บริเวณใบหูเรื่อยมาถึงขากรรไกร ซึ่งมีเส้นประสาทและต่อมน้ำลาย การนวดที่แรงเกินไป อาจทำให้เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ จนทำให้กล้ามเนื้อและการรับความรู้สึกใบหน้าทำงานผิดปกติ
—คอ บริเวณด้านหน้าของคอ ใต้คางจนถึงไหปลาร้า เป็นบริเวณศูนย์รวมของเส้นประสาทและเส้นเลือดที่ไหลออกจากหัวใจไปเลี้ยงสมอง การนวดจะทำให้เกิดการกดทับการไหลเวียนเลือดหรือเส้นประสาท ทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตจากการที่สมองขาดเลือดได้
—รักแร้ บริเวณใต้รักแร้ทั้งหมดเป็นศูนย์รวมของเส้นเลือดและเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขน หากเกิดการบาดเจ็บอาจส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อและการรับความรู้สึกของแขนผิดปกติไป การนวดควรทำอย่างระมัดระวังและใช้เวลาสั้น ๆ
—ต้นแขน บริเวณด้านหน้าของต้นแขนซึ่งมีเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมือ การนวดหรือการกดแรงจะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหรือการรับความรู้สึกที่มือเสียหายได้
--หลัง บริเวณกระดูกสันหลังหากผู้นวดไม่ระมัดระวัง และนวดรุนแรงเกินไปจะทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือหักได้ ซึ่งบริเวณด้านในของกระดูกสันจะเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทและไขสันหลัง หากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต หรือพิการได้
--ท้อง บริเวณทั้งหมดของช่วงท้องเพราะเป็นจุดรวมอวัยวะภายใน สามารถเกิดอันตรายได้จึงควรนวดอย่างระมัดระวัง
--บริเวณก้น เป็นบริเวณที่มีเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อขา หากนวดหรือกดแรงเกินไปจะทำให้มีอาการปวดชาร้าวลงที่ขาได้
ผู้ที่ไม่ควรนวดไทย
กำลังตั้งครรภ์
คนท้องไม่ควรไปนวดแผนไทย โดยเฉพาะการนวดที่รุนแรงเกินไป หรือการนวดกดจุดสะท้อนในบริเวณต่างๆ ควรงดการนวดไทย เพราะอาจมีการกระทบกระเทือนต่อการตั้งครรภ์ได้ ถ้ารุนแรงมากก็อาจจะแท้งได้
มีประจำเดือน
ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ไม่ควรไปนวดไทยเพราะอาจทำให้มีเลือดออกมาผิดปกติ เกิดความแปรปรวนเลือดลมภายใน หรืออาจทำให้เป็นโรคไข้ทับระดูได้
คนที่เป็นโรคกระดูกพรุน
สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน กระดูกบาง มีสภาวะข้อต่อหลวม มีแนวโน้มว่ากระดูกเปราะง่าย หักง่าย ห้ามไปนวดแผนไทยเช่นกัน เคยเกิดกรณีศึกษามาแล้วว่า มีคนป่วยโรคกระดูกพรุนไปนวดแผนไทยแล้วทำให้ขาหักในขณะที่นวด ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยมากๆ
เป็นโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด หรือโรคฮีโมฟีเลีย ห้ามไปนวดแผนไทย เพราะการนวดจะเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต อาจทำให้มีอาการเลือดออกใต้ผิวหนัง รวมทั้งเกิดเลือดออกในอวัยวะต่างๆ และกล้ามเนื้อ ถ้าหากเลือดออกมาก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการช็อก และเสียชีวิตได้
ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งในระยะลุกลาม ห้ามนวดแผนไทย เพราะอาจจะเป็นกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งลุกลามได้รวดเร็ว รวมทั้งอาจมีการแพร่กระจายเข้าสู่เส้นเลือดและน้ำเหลือง อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
ผู้ป่วยโรคประจำตัวร้ายแรง
เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดดำอักเสบ ผู้ป่วยโรคเหล่านี้ไม่สามารถไปนวดแผนไทยได้ หากป่วยเป็นโรคความดัน บางคนไปนวดแล้วความดันพุ่งขึ้นสูงมาก จนเส้นเลือดในสมองแตกได้ ดังนั้นการนวดแผนไทยตามมาตรฐาน จะต้องมีการซักประวัติ และสอบถามเรื่องโรคประจำตัวคนที่จะมานวดก่อนเสมอ
ผู้ที่มีกระดูกหัก
เนื่องจากอาจเกิดลิ่มเลือดตามเส้นเลือดได้ ซึ่งการไปนวดแผนไทยในคนไข้ที่มีอาการเหล่านี้ จะทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกมาในกระแสเลือด แล้วถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดในสมองก็จะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ถ้าไปอุดตันเส้นเลือดในปอดก็จะเหนื่อย แน่นหน้าอก แล้วก็เสียชีวิต
เป็นโรคติดต่อที่แพร่เชื้อได้
หากมีไข้เกิน 38.5 องศาเซลเซียส มีอาการจากโรคติดเชื้อเฉียบพลัน หรือโรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ เช่น โรคเอดส์ โรคงูสวัด โควิด-19 อีสุกอีใส วัณโรค เป็นต้น หากป่วยเป็นโรคเหล่านี้ไม่ควรไปนวดแผนไทย เพราะยิ่งจะทำให้อาการป่วยนั้นหนักขึ้นกว่าเดิม รักษาหายได้ช้าไปอีก
ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บ
มีแผลฟกช้ำ มีลิ่มเลือด กล้ามเนื้ออักเสบ เอ็นอักเสบ ฯลฯ ไม่ควรไปนวดแผนไทย ควรเว้นระยะให้หายดีก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพราะหากเพิ่มบาดเจ็บมาใหม่ๆ ก็ทำให้ลิ่มเลือดนั้นไปอุดตันตามอวัยวะสำคัญ เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต รวมถึงผู้ที่เพิ่งผ่าตัดมา แล้วแผลยังปิดไม่สนิท ก็ห้ามนวด เพราะการนวดอาจทำให้แผลปริแตก และอาจทำให้แผลมีอาการอักเสบมากกว่าเดิม
ผู้ที่มีปัญหากระดูกสันหลัง
ผู้ป่วยเกี่ยวกับไขสันหลัง หรือเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไม่ควรไปนวดแผนไทย เพราะถ้านวดผิดจุดขึ้นมา อาจจะทำให้กระดูกสันหลังมีการเคลื่อนตัว หรือยุบตัวลงไป ทำให้เกิดความเจ็บปวดและอันตรายที่รุนแรงขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง :
อ้างอิงจาก: โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร, ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล