สืบเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนา ทำให้ทางการรัฐอัสสัม สั่งห้ามบริโภคเนื้อวัวในที่สาธารณะแล้ว รวมถึงที่ร้านอาหารด้วย
เป็นการรายงานข่าวมาจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางการรัฐอัสสัม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย สั่งห้ามบริโภคเนื้อวัวในที่สาธารณะแล้ว รวมถึงที่ร้านอาหาร และตามงานอีเวนต์ต่างๆ แต่ยังสามารถขายตามร้านค้า และบริโภคภายในบริเวณบ้านหรือสถานที่ส่วนตัวได้ นาย หิมันตา บิสวา ซาร์มา มุขมนตรีรัฐอัสสัม กล่าวเมื่อวันพุธที่ 4 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนขยายจากกฎหมายที่รัฐอัสสัมบังคับใช้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจำกัดการขายเนื้อใกล้กับสถานที่ทางศาสนาบางแห่ง เช่น วัด เป็นต้น ทั้งนี้ การบริโภคเนื้อวัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในอินเดีย เนื่องจาก โค หรือ วัว นับว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นประชากร 80% ของอินเดีย หลายรัฐในอินเดียที่ปกครองโดยพรรคภารตียชนตา (BJP) ฝ่ายชาตินิยมของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี รวมถึงในรัฐอัสสัม ปราบปรามการเชือดวัวอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และราว 2 ใน 3 จาก 28 รัฐในอินเดีย ห้ามการเชือดและบริโภคเนื้อวัวเป็นบางกรณีหรือทั้งหมด นอกจากนั้น หลายพื้นที่ในอินเดีย ยังมีกลุ่มศาลเตี้ยที่ตั้งตัวขึ้นมาบังคับใช้กฎห้ามเชือดและบริโภคเนื้อวัวด้วยความรุนแรง และมักทำให้เกิดการนองเลือดถึงขั้นเสียชีวิตในหมู่ผู้ค้าเนื้อชาวมุสลิม และกลุ่มชนชั้นดาลิต ที่นิยมบริโภคเนื้อวัวเนื่องจากมีราคาถูก สำหรับรัฐอัสสัม ทางการสั่งห้ามซื้อขายเนื้อวัวในเขตที่อยู่ของผู้นับถือศาสนา ฮินดู, เชน และ ซิกข์ มาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว อย่างไรก็ตาม พรรคคองเกรส แกนนำฝ่ายค้าน กล่าวหานายซาร์มาว่า กำลังใช้เนื้อเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งซ่อมในเมือง ซามากุรี ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ด้วยการมอบเนื้อให้ผู้โหวต มุขมนตรีผู้นี้ได้ทรยศต่อค่านิยมชาวฮินดูของพรรคตัวเอง ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ในรัฐอัสสัมต่างวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งของนายซาร์มาอย่างหนัก ว่าเป็นการแทรกแซงสิทธิ์ในการบริโภคของประชาชน