เตรียมฉลอง!'ต้มยำกุ้ง'-'เคบายา'สู่มรดกทางวัฒนธรรมฯของยูเนสโก้!
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จะมีการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: IGC) ในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ นครอซุนซิออน (Asuncion) สาธารณรัฐปารากวัย หรือตรงวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ตามเวลาประเทศไทย (เร็วกว่า 10 ชั่วโมง)
จะมีการพิจารณาและลงมติรับรอง การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ และเชื่อมั่นว่ารายการที่ประเทศไทยเสนอ คือ ต้มยำกุ้ง ของไทย และ เคบายา Kebaya (เสนอร่วม) จะได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity : RL) ประจำปี 2567 โดย กระทรวงวัฒนธรรมพร้อมขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้ดังไกลทั่วโลก
“ต้มยำกุ้ง” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมรายการที่ 5 ที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก
ที่ผ่านมาประเทศไทย มีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากยูเนสโก แล้ว จำนวน 4 รายการ ได้แก่ โขน (2561) นวดไทย (2562) โนรา (2564) และประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย (2566) โดย ต้มยำกุ้ง (Tomyum Kung) จะถือเป็นรายการที่ 5 ของไทย ที่ได้รับการรับรอง ในส่วน เคบายา เป็นรายการที่เสนอร่วม 5 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ในชื่อ Kebaya : knowledge, skills, tradition and practices หรือ เคบายา : ความรู้ ทักษะ ประเพณี และการปฏิบัติ การได้ขึ้นเป็นมรดกวัฒนธรรมร่วมกันในครั้งนี้ด้วย
"เคบายา" เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรี ที่มีความประณีต งดงาม สะท้อนถึงประวัติศาสตร์และประเพณีที่มีร่วมกันของผู้คน และเชื่อมโยงชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีส่วนในการสร้างสันติภาพและความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในภูมิภาค
ต้มยำกุ้ง ภาพสะท้อนอันหลากหลายของวัฒนธรรมไทย
ต้มยำกุ้งหนึ่งชาม ประกอบไปด้วยส่วนผสมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ทั้ง กุ้งแม่น้ำ ที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ เครื่องสมุนไพร ตะไคร้ ใบมะกรูด ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาในการรับประทานอาหารเป็นยาจนกระทั่งการปรุงรสที่ปรับเปลี่ยนจากอดีต และกลายมาเป็นต้มยำกุ้งที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน ทั้งต้มยำกุ้งน้ำใส น้ำข้น ที่ปรับเปลี่ยนสูตรให้อร่อยลิ้น ด้วยรสชาติที่ถูกปากผู้คนทั่วโลก ต้มยำกุ้ง จึงเปรียบเสมือนภาพตัวแทนวัฒนธรรมอาหารไทยที่ชาวโลกรู้จัก
คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงเสนอ “ต้มยำกุ้ง” เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบขอขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก เมื่อ พ.ศ. 2564 โดยจะเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 วันที่ 2 - 7ธันวาคม 2567 ที่สาธารณรัฐปารากวัย
“เคบายา” วัฒนธรรมร่วมแห่งคาบสมุทรมลายู
เคบายา (Kebaya) ชุดพื้นเมืองของสตรีไทยเพอรานากัน ในพื้นที่ริมฝั่งทะเลอันดามันภาคใต้ของประเทศไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านการแต่งกายที่มีวิวัฒนาการร่วมกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในคาบสมุทรมลายูมากว่า 300 ปี เป็นรูปแบบการแต่งกายบาบ๋าเพอรานากัน ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในสาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล เมื่อปี พ.ศ. 2555
ทั้งนี้ เสื้อเคบายา จะได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก ร่วมกับอีก 4 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงค์โปร์ ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ สาธารณรัฐปารากวัย
กระทรวงวัฒนธรรมเชิญชวนประชาชนร่วมงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา
ในโอกาสที่น่ายินดีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมกิจกรรม งานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ระหว่างวันที่ 6 - 8 ธันวาคม2567 ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ โดยในวันที่ 6 ธันวาคม เวลา 18.00 น. จะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ ภายในงานจะมีการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดเคบายา การสาธิตการทำต้มยำกุ้ง โดยเชฟตุ๊กตา (ร้านบ้านยี่สาร) หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย พร้อมได้ชิมต้มยำกุ้งฟรี ชมนิทรรศการ
“ต้มยำกุ้ง” นิทรรศการ/สาธิตการปักชุด “เคบายา” และการแสดงดนตรีทางวัฒนธรรมให้ชมตลอดงาน
โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.culture.go.th และเฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม