ไม่แผ่วเลยสำหรับโคลอมเบีย หลังจับยาเสพติดได้ 1,400 ตัน และพบว่าพ่อค้ายาไฮเทคขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นใช้เรือดำน้ำส่งโคเคน
เป็นการรายงานข่าวมาจากสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เมื่อวานนี้ (29 พฤศจิกายน 2567) ว่าเจ้าหน้าที่จากหลายสิบประเทศนำกำลังยึดโคเคน 225 เมตริกตัน จากปฏิบัติการครั้งใหญ่ ที่กินเวลานาน 6 สัปดาห์ ซึ่งทำให้ค้นพบเส้นทางลักลอบขนยาเสพติดในมหาสมุทรแปซิฟิก จากอเมริกาใต้ไปยังออสเตรเลีย โดยกองทัพเรือโคลอมเบียออกแถลงการณ์ว่า ปฏิบัติการโอไรอัน ครั้งล่าสุด สามารถยึดยาเสพติดได้มากกว่า 1,400 ตัน ซึ่งรวมถึงโคเคน 225 ตัน และกัญชา 128 ตัน ระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ย. นี้ มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 400 คน ภายใต้ปฏิบัติการ ที่ผสานความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่จากสหรัฐอเมริกา บราซิล สเปน เนเธอร์แลนด์ และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ยึดเรือกึ่งดำน้ำที่ทำจากไม้และไฟเบอร์กลาส ซึ่งบรรทุกโคเคน 5 ตัน ที่กำลังเดินทางจากโคลอมเบียไปยังออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ค้นพบเส้นทางขนยาเสพติด ของเรือกึ่งดำน้ำยุคใหม่ ซึ่งสามารถเดินทางได้ไกลถึง 10,000 ไมล์หรือประมาณ 16,093 กม. โดยไม่ต้องเติมน้ำมัน โดยโคเคน 1 กิโลกรัมในออสเตรเลีย มีราคาสูงถึง 240,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 8.2 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคาในสหรัฐถึง 6 เท่า ส่งผลให้เส้นทางนี้ทำกำไรได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาของสินค้าในตลาดออสเตรเลียมีมูลค่าสูง ขณะเดียวกัน เรือกึ่งดำน้ำของกลุ่มค้ายามีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ประณีตมากขึ้น ปัจจุบัน การลำเลียงยาเสพติดผ่านเส้นทางสายนี้ ถือเป็นการรวมตัวของขบวนการค้ายาจาก เม็กซิโก บราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู รวมถึงกลุ่มจากยุโรปและโอเชียเนีย