ฉาวสนั่น! ร้าน“ถูกดี มีมาตรฐาน” โดนแฉกดขี่โชห่วยด้วยสัญญาสุดเอาเปรียบ ล่าสุดยอดความเสียหายพุ่งไปแตะ 2 พันล้านบาท
ข่าวใหญ่ในวงการธุรกิจร้านค้าปลีกของไทยกำลังเป็นที่จับตามอง เมื่อเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ภายใต้การดูแลของบริษัทของเสถียร เจ้าของคาราบาวแดง กำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาว่ากดดันและบีบคู่ค้า โดยเฉพาะร้านโชห่วยในชุมชนที่ร่วมธุรกิจด้วยการลงนามในสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผลกระทบในกรณีนี้ทำให้ยอดความเสียหายของเจ้าของร้านโชห่วยรวมถึง 2 พันล้านบาท
“ถูกดี มีมาตรฐาน” เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของเสถียร ที่ต้องการช่วยแก้ปัญหาของร้านโชห่วยที่ขาดทุนทรัพย์ และต้องการให้ร้านค้ารายเล็กสามารถแข่งขันได้ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนในสินค้าทุกชนิด และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในร้าน เช่น ชั้นวางสินค้า ตู้เย็น เครื่องคิดเงินอัตโนมัติ (POS) และระบบกล้องวงจรปิด เพื่อเพิ่มมาตรฐานการบริการและการจัดการของร้านค้า ที่มีมูลค่าต่อร้านสูงเกือบ 1 ล้านบาท
เจ้าของร้านจะต้องลงทุนในส่วนของการปรับปรุงร้านให้ตรงตามมาตรฐาน และวางเงินค้ำประกันสัญญาจำนวน 2 แสนบาทเพื่อเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยสินค้าทั้งหมดและอุปกรณ์ในร้านยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท โดยเจ้าของร้านต้องส่งรายได้จากการขายสินค้าให้บริษัทภายในวันทำการถัดไป เวลา 21.00 น.
การปฏิบัติที่เคร่งครัดดังกล่าวทำให้เกิดข้อพิพาทกับร้านค้าหลายแห่ง ที่พบว่ามีการส่งเงินล่าช้าหรือไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขในสัญญา หากเกิน 3 วัน บริษัทจะหยุดส่งสินค้าและหากไม่มีการชำระเงินภายใน 4 วัน บริษัทจะส่งจดหมายแจ้งเตือนและยกเลิกสัญญา พร้อมนำอุปกรณ์ทั้งหมดออกจากร้าน
ขณะที่ผู้เสียหายรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนรู้จักบริษัทดังกล่าวจากการที่มีพนักงานนำใบโบรชัวร์ไปแจกที่ร้าน จึงตกลงใจที่จะทำธุรกิจนี้จากสโลแกนที่ว่า “พลิกชีวิตโชห่วยให้รวยได้” แต่ตอนนี้หมดตัว หลังจากตนเปิดร้านค้ามา ก็พบว่าของหายโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงปรึกษาผู้ดูแลร้านเขาบอกว่าคนในบ้านเอาไปกิน ซึ่งมันไม่ใช่ อีกทั้งมีการจัดสินค้าไม่ตอบโจทย์ชุมชน แจ้งไปทุกช่องทางแต่ไม่ได้รับการแก้ไข ตนเครียด ขอยกเลิกสัญญา แต่กลับถูกยึดเงินประกัน 2 แสนบาท และวันที่บริษัทมาเก็บของไปก็ไม่แจ้งตน สุดท้ายบอกว่าของหายไป 1.6 แสนบาท และให้ตนเซ็นหนังสือยอมรับไปก่อน เพราะถ้าไม่เซ็น พนักงานออกจากร้านตนไม่ได้ ตนก็ถามว่าทำไมของหาย เขาก็ให้ตนเซ็นไปก่อน โดยอ้างว่ามีเงินประกันค้างอยู่ จากนัน้มีหนักงสือส่งมาว่าตนต้องชำระเงินจำรวน 1.6 แสนบาท ตนก็ทำหนังสือแย้งไป จากนั้นก็มีหมายจากตำรวจแจ้งคดีอาญาว่าเรายักยอกทรัพย์ และตนก็ไม่เคยเซ็นยอมรับสภาพหนี้
“ที่ผ่านมาขายไม่ดี เพราะสินค้าไม่ตอบโจทย์ชุมชน และไม่หลากหลาย ตอนสินค้ามาใหม่ๆ ก็ขายได้หมื่นกว่าบาท จากนั้นก็ลดลงๆ จนถึงวันที่ตัดสินใจยกเลิกร้านค้าขายได้ 6 พันกว่าบาท ตนเปิดร้านได้ 1 เดือน 5 วัน ก่อนตัดสินใจยกเลิก เพราะป่วยมาก เครียดมาก และสินค้าหาย พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดสัญญาใดๆ”
ขณะที่ผู้เสียหายอีกราย กล่าวว่า ร้านของตนเจอบิลซ้อน โดยร้านได้ขายของให้ลูกค้าจริงและได้เงินจริงโดยบิลใบที่1 แต่ผ่านไปประมาณ 2 วินาทีจะมีบิลใบที่สองที่มีลักษณะเหมือนใบที่หนึ่งออกมาจากเครื่องอีกใบ โดยสินค้าและรหัสลูกค้าสมาชิกคือคนเดียวกันกับในแรก ทำให้ร้านจะต้องส่งยอดให้กับบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า เราจะรู้ตัวอีกทีคือตอนที่จะนำเงินส่งให้บริษัทไม่พอ
ทั้งนี้การลงทุนในธุรกิจดังกล่าวต้องวางเงินประกันสินค้าสูญหาย 2 แสนบาท ทางบริษัทแจ้งว่าร้านค้ามีหน้าที่ขายสินค้า เป็นตัวแทนให้บริษัท และนำเงินส่งเงินให้กับบริษัทในทุกวันหลังจากที่ขายสินค้าได้ หากแจ้งช้าจะเสียค่าปรับวันละ 2,000 บาท และเวลาที่เราได้รับสินค้านั้น สินค้าจะมาในลังสีเขียว ซึ่งเราจะไม่รู้เลยว่าสินค้าในลังมีอะไรบ้าง จำนวนครบหรือไม่ เมื่อเรารับสินค้าเข้ามา จัดเรียงและขายสินค้าตามปกติให้บริษัท เราจะได้เปอร์เซ็นต์จากกำไรของการขายสินค้า 85 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเสียภาษี และ 15 เปอร์เซ็นต์ส่งให้บริษัท
อ้างอิงจาก: FB : คุยทุกเรื่องกับสนธิ