วิกฤติในสังคมผู้สูงวัยในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกขณะ ผลวิจัยชี้ว่า อีก 26 ปี คนสูงวัย 10% ในญี่ปุ่น จะไม่เหลือญาติสนิทอยู่เลย
วิกฤติในสังคมผู้สูงวัยในญี่ปุ่นมีมากขึ้นทุกที เพราะผลการศึกษาใหม่ของสถาบันวิจัยในญี่ปุ่นชี้ว่า จำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในญี่ปุ่น ที่ไม่มีญาติสนิทเหลืออยู่เลย ไล่ตั้งแต่ญาติสายตรง (1st degree relative) คือ พ่อ แม่ พี่ น้อง และลูก ไปจนถึงญาติลำดับที่ 3 (3rd degree relative) ได้แก่ทวด กับเหลน จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.48 ล้านคนภายในปี 2593 หรือราว 1.5 เท่าของจำนวนในปัจจุบัน โดยจำนวนผู้สูญอายุกลุ่มดังกล่าวยังคิดเป็น 11.5% ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดในแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งอยู่ที่ 39 ล้านคน เรื่องนี้ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากว่า ในอนาคตใครจะทำหน้าที่เป็นผู้รับรองหรือผู้รับประกันให้คนกลุ่มนี้ ในกรณีที่พวกเขาเข้าโรงพยาบาลหรือบ้านพักคนชรา และใครจะเป็นผู้รับศพ สถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยประชากรและประกันสังคม (NIPSSR) ของญี่ปุ่นประเมินว่า การแต่งงานที่ลดลงในประเทศที่สังคมผู้สูงอายุกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างญี่ปุ่น จะทำให้จำนวนผู้มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่มีญาติเหลืออยู่จนถึงญาติลำดับที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 2.86 ล้านคนในปี 2567 นี้ ทั้งนี้ กฎหมายแพ่งของญี่ปุ่นกำหนดให้ญาติที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการดูแลสมาชิกครอบครัวที่มีอายุมากนั้น ครอบคลุมถึงญาติลำดับที่ 3 เท่านั้น ขณะที่การมีผู้รับรองก็เป็นหนึ่งในข้อกำหนดเพื่อใช้บริการบ้านพักคนชราและศูนย์การแพทย์ต่างๆ NIPSSR ประเมินด้วยว่า ผู้สูงอายุที่ไม่มีญาติสนิทและจำเป็นต้องได้รับการดูแลหรือสนับสนุนระยะยาว ภายใต้ระบบประกันสุขภาพระยะยาวของภาครัฐ จะเพิ่มจาก 340,000 ราย เป็น 540,000 ราย ในปี 2593 ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุที่ใช้บริการของภาคเอกชนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นกัน ตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังดำเนินขั้นตอนต่างๆ เช่นร่างแบบแนวทางปฏิบัติสำหรับบริษัทประกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการประเมินของ NIPSSR แสดงให้เห็นดด้วยว่า ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่ไม่มีลูก จะเพิ่มขึ้นจาก 4.59 ล้านคนในปี 2567 เป็น 10.32 ล้านคน ในปี 2593 และภายในกลุ่มนี้ มีผู้ที่ไม่ได้แต่งงาน 3.71 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.34 ล้านคนภายในกรอบเวลาเดียวกัน