โรคชอบโชว์อวัยวะเพศของตนเองต่อคนแปลกหน้า หรือ ในที่สาธารณะ Exhibitionism
โรคชอบโชว์ Exhibitionism เป็นพฤติกรรม หรือ ความรู้สึกทางเพศที่ผิดปกติ (Paraphilic Disorder) ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมชอบอวดภาพอนาจารของตัวเองต่อหน้าผู้อื่น ชอบโชว์อวัยวะเพศของตนเองต่อคนแปลกหน้า หรือ ในที่สาธารณะ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นแรงกระตุ้นจากสมอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตื่นเต้น เกิดความพึงพอใจทางเพศ บางคนสามารถตระหนักถึงผลลัพธ์ที่ตามมาแต่ควบคุมตนเองไม่ได้
ความรู้สึกและพฤติกรรมของโรคชอบโชว์พบได้ตั้งแต่ ช่วงวัยรุ่นตอนปลายไปจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น โดยแรงกระตุ้นของพฤติกรรมอาจค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จากข้อมูลบางส่วนพบว่า ในผู้ชาย 100 คนอาจพบผู้ที่เป็นโรคนี้เฉลี่ย 2–4 คน
ลักษณะ - อาการของผู้ป่วย โรคชอบโชว์ Exhibitionism
1.พฤติกรรมการโชว์ของลับให้กับคนแปลกหน้า หรือ ผู้ที่ไม่ยินยอม ในภาษาอังกฤษเรียกพฤติกรรมนี้ว่า แฟลชชิ่ง (Flashing) ผู้ที่มีพฤติกรรมแฟลชชิ่งมักสวมเสื้อคลุม หรือ ใช้วัตถุบางอย่างปิดบังอวัยวะเพศเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หากเจอเป้าหมายจะเดินเข้าในไประยะสายตาที่เป้าหมายมองเห็นและโชว์อวัยวะเพศของตน เป้าหมายอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไป บางคนอาจเลือกเป้าหมายในกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ หรือ เลือกตามลักษณะกายภาพอื่น ๆ
หลังจากผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมดังกล่าว เป้าหมายส่วนใหญ่มักแสดงท่าทีตกใจ แสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง ส่งเสียงร้อง ทำให้ผู้ป่วย Exhibitionism ตื่นเต้นและเกิดอารมณ์ทางเพศจากการเห็นปฏิกิริยาของเป้าหมาย
2.นอกจากการโชว์ของลับแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจช่วยตนเอง หรือ สำเร็จความใคร่ต่อหน้าเป้าหมาย บางรายอาจหลบไปสำเร็จความใคร่ภายหลังจากโชว์อวัยวะเพศ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ใช่การสัมผัสกับร่างกายของเป้าหมาย แต่ก็อาจพบได้ในบางกรณี
วิธีพิจารณาว่าบุคคลใดเข้าข่ายเป็น โรคชอบโชว์ Exhibitionism
- การมีจินตนาการ พฤติกรรม แรงขับ เกี่ยวข้องกับการแสดงของลับต่อหน้าผู้อื่น ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในรอบ 6 เดือนหรือมากกว่านั้น และอาการเหล่านั้นเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อย่างการทำงาน ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
- ความไม่สบายใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน เนื่องจากแรงขับที่อยากจะแสดงของลับ หรือ อวดอวัยวะเพศของตนเองต่อหน้าผู้อื่น เมื่อไม่ได้แสดงออกเกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ
สาเหตุของโรคชอบโชว์ Exhibitionism
- ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือ ได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจในช่วงวัยเด็ก
- การใช้สารเสพติด หรือ สารเคมีบางชนิดที่ผิดกฎหมายจนอาจส่งผลต่อพฤติกรรม การแสดงออกบางอย่าง
- โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม
- รสนิยมทางเพศส่วนบุคคล
- โรคเสพติดเซ็กส์ (Sex Addiction)
- โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder)
- โรคชอบเด็ก (Pedophilia)
- พฤติกรรมติดแอลกอฮอล์
ผลเสียของโรคชอบโชว์ Exhibitionism
โรคนี้ไม่เพียงส่งผลต่อเป้าหมายเท่านั้น แต่ส่งผลต่อตัวผู้ป่วยเช่นเดียวกัน
- ทำให้ถูกมองในแง่ลบ อาจทำให้ถูกกีดกันออกจากสังคม
- มีปัญหาความสัมพันธ์กับคู่รักหรือคู่นอน ในกรณีอีกฝ่ายไม่สามารถทำใจยอมรับพฤติกรรมชอบโชว์ได้
- อาจทำให้ถูกจับคุม ดำเนินคดี ประวัติเสื่อมเสีย
- ผู้ป่วยบางส่วนสามารถตระหนักถึงอาการของตนเองว่าอาจนำมาซึ่งความเดือดแก่ตนเอง และ ผู้อื่น แต่ก็ไม่สามารถควบคุมตนเองจากแรงขับทางเพศจากภายในได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงมักเกิดความรู้สึกผิดหลังได้กระทำการดังกล่าว
การรักษาโรคชอบโชว์ Exhibitionism
- รักษาด้วยการกินยาแก้ซึมเศร้ากลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อสารสื่อประสาทเพียงชนิดเดียว (Selective Serotonin Reuptake Inhibitor: SRRI) ซึ่งมีคุณสมบัติลดความต้องการทางเพศ ต้านอาการซึมเศร้า หรือ วิตกกังวล
- ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Antiandrogens) ที่มีประสิทธิภาพลดระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนในร่างกาย อาจใช้เพื่อระงับความต้องการทางเพศ ในกรณีของผู้ป่วยที่มี ความต้องการทางเพศสูงมากหรือสุดโต่ง(Hypersexuality)
- การบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ช่วยให้ผู้ป่วยได้รู้จักตนเอง รูปแบบของความต้องการ ความคิด พฤติกรรมดังกล่าวได้มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยจัดการกับอารมณ์ ตระหนักถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมา ลดความรุนแรงของโรค
- จิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นการพูดคุยกับเพื่อสร้างความเข้าใจของปัญหา เรียนรู้วิธีการควบคุมอารมณ์ สร้างความเข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่น ไปจนถึงการปรับรูปแบบความคิด (Cognitive Restructuring) ที่อาจช่วยรับมือกับอาการได้
หากเจอกับผู้ป่วยโรค Exhibitionism ควรทำเป็นไม่เห็น ไม่สนใจ และเดินออกจากบริเวณนั้น
เมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ตนต้องการจะหยุดพฤติกรรมดังกล่าว
จากนั้นควรแจ้งหน่วยงานรัฐให้นำตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเพศอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น