ม.วลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการระดับชาติ PSPARN 2024 นักวิจัย 13 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยเข้าร่วม
ม
.วลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ครั้งที่ 8 (PSPARN 2024) นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา จาก 13 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยร่วมนำเสนอผลงานวิชาการกว่า 40 เรื่อง
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดยสำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการเครือข่ายการศึกษา วิจัยและความสัมพันธ์ทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ครั้งที่ 8 (The 8th PSPARN Academic Conference 2024) ภายใต้หัวข้อ "ภูมิทัศน์ทางการเมืองและการบริหารงานภาครัฐในยุค Disruption" ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2567 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ กล่าวรายงาน พร้อมการปาฐกถาพิเศษโดย ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ในหัวข้อ“ภูมิทัศน์ทางการเมืองและการบริหารงานภาครัฐในยุค Disruption” และการเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศิวพงศ์ ทองเจือ อุปนายกคนที่ 1 สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยและประธานกรรมมาธิการสถาปนิกผังเมืองทักษิณ ดร.กณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนคร นครศรีธรรมราช ดร.เอกลักษ์ ณัถฤทธิ์ ประธานอนุกรรมการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับพื้นที่ภาคตะวันออก ในหัวข้อ “การจัดการเมืองในยุค Disruption”ณ อาคารเรียนรวม 5 ห้อง 5301 โดยมีคณาจารย์ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 13 สถาบันเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการทั้งในลักษณะโปสเตอร์และบรรยายจำนวน 40 เรื่อง และมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการจำนวน 25 ทีมจาก 15 มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้ดำเนินการขึ้นโดยภาคีเครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย จำนวน 13 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3) มหาวิทยาลัยบูรพา 4) มหาวิทยาลัยทักษิณ 5) มหาวิทยาลัยพะเยา 6) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 7) มหาวิทยาลัยศิลปากร 8) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 9) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 10) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 11) มหาวิทยาลัยขอนแก่น 12) มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และ 13) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งความร่วมมือนี้นำมาสู่การดำเนินกิจการต่าง ๆ ทางด้านวิชาการของนิสิต นักศึกษา ในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา อีกทั้งยังเป็นการเปิดเวทีทางวิชาการที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านของสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เข้าสู่ยุค Disruption ซึ่งในภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนต้องมีการปรับตัวทั้งในรูปแบบการบริหารงาน การบูรณาการองค์ความรู้ในศาสตร์แขนงต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางด้านความคิดและสามารถนำไปต่อยอดในการศึกษาวิจัยที่จะส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เผยแพร่สู่สาธารณชน
รักษาการแทนอธิการบดี กล่าวต่ออีกว่า ม.วลัยลักษณ์มีปณิธานในการบุกเบิก แสวงหาและถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างสรรค์ จรรโลงความก้าวหน้าและความเจริญทางวิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้า โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และสำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคมในการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ทำงานในสาขาเดียวกัน