วิกฤติการขาดแคลนทารกเกิดใหม่ของสิงคโปร์ รุนแรงสุดในรอบ 50 ปี
เป็นการรายงานข่าวมาจากสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากประเทศสิงคโปร์ในวันนี้ (16 กรกฏาคม 2567) ว่าจำนวนทารกที่เกิดเมื่อปี 2566 ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนเด็กแรกเกิดครั้งใหญ่ในสิงคโปร์ รายงานการจดทะเบียนเกิดและตายเมื่อปี 2566 ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและจุดตรวจ (ICA) ระบุว่า ในปีที่แล้ว มีทารกเกิดในประเทศทั้งหมด 33,541 คน ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 5.8 จากจำนวนทารก 35,605 คน ที่เกิดเมื่อปี 2565 และน้อยกว่าทารก ซึ่งเกิดเมื่อปี 2564 จำนวน 38,672 คน ถึงร้อยละ 13.3 สถิติดังกล่าว ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2514
เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า อัตราการเจริญพันธุ์รวมของผู้อยู่อาศัย (ทีเอฟอาร์) ซึ่งหมายถึงจำนวนทารกโดยเฉลี่ย ที่ผู้หญิงแต่ละคนจะมีในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ลดลงต่ำกว่า 1 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2566 โดยอยู่ที่ 0.97 ส่งผลให้สิงคโปร์กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดของโลก สวนทางกับจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 26,888 ราย ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิต 26,891 ราย ในปี 2565 เพียงร้อยละ 0.01 และมากกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตในปี 2564 ที่ 24,292 ราย ถึงร้อยละ 10.7 โดยสาเหตุหลัก ได้แก่ โรคหัวใจและความดันโลหิตสูง และโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดในปี 2566 ขณะที่ 1 ใน 4 เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง นับเป็นครั้งแรกที่รายงานนำเสนอข้อมูล เกี่ยวกับทารกที่มี 2 สัญชาติ เนื่องจากพ่อแม่มีเชื้อชาติต่างกัน
โดยในปีที่แล้ว มีพ่อแม่หลายเชื้อชาติถึงร้อยละ 28.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.9 ในปี 2557 อนึ่ง นับตั้งแต่ปี 2554 คู่รักต่างเชื้อชาติได้รับอนุญาตให้สามารถจดทะเบียนบุตรได้ทั้ง 2 สัญชาติ หรือเลือกจดทะเบียนเพียงแค่เชื้อชาติของบิดาหรือมารดาเท่านั้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากการแต่งงานระหว่างคนต่างสัญชาติเพิ่มมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ ดร.ตัน โปห์ ลิน นักวิจัยอาวุโสจากไอพีเอส ระบุว่า ข้อมูลจากกรมสถิติแสดงให้เห็นว่าอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง ในหมู่ผู้หญิงสิงคโปร์และผู้อยู่อาศัยถาวรที่อายุระหว่าง 25-29 ปี และ 30-34 ปี ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้อัตราการเกิดลดลงในปี 2566 นั่นเอง