ผลการศึกษาพบว่า ในอนาคตอาจไม่มีช็อคโกแลตให้เรากินอีกต่อไป
มีของกินหลายอย่างที่ช่วยให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้ หนึ่งในนั้นคือช็อคโกแลต ที่เราๆคุ้นเคยและชอบกินมัน แต่จะเป็นยังไงถ้าโลกนี้อาจไม่มีช็อคโกแลตให้เรากินอีก โดยช็อคโกแลตผลิตมาจากเมล็ดโกโก้ โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่สามประเทศคือสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ กานา และอินโดนิเซีย แต่แค่สาธารณรัฐโกตดิวัวร์กับกานาที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ก็ผลิตโกโก้กว่า 58% ของโลกแล้ว เท่ากับว่าหากผลผลิตของประเทศทั้งสองตกลงก็กระทบกับกำลังการผลิตของโกโก้ทั่วโลกอย่างแน่นอน ซึ่งมันก็แสดงให้เราเห็นตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อ ต้นปี 2023 ราคาของโกโก้สูงขึ้นตลอดมา กระทั่งต้นปี 2024 ราคาของโกโก้เพิ่มขึ้น 136% จากปี 2022 ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากกำลังการผลิตโกโก้ลดต่ำลง เพราะพวกมันได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนขึ้น เฉกเช่นกับบ้านเรา
ทวีปแอฟริกาก็ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งของเอลนีโญ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของโกโก้ พอผลผลิตลดลงพวกเขาก็ต้องถางป่าเพื่อเข้าไปปลูกโกโก้ต่อ พอถางป่าความชื้นก็ลดลงทำให้อากาศแห้งแล้งกว่าเดิม นอกจากนั้นยังทำให้แมลงศัตรูพืชและเชื้อโรคพืชแพร่กระจายเข้าสู่โกโก้อีกด้วย เกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ที่แก้ไม่รู้จบ อีกทั้งองค์กรโกโก้นานาชาติ (ICCO) ได้คาดการณ์ไว้ว่าปีนี้ผลผลิตโกโก้จะลดลงอีกราว 10.9% เลยทีดียว แต่ความเลวร้ายยังไม่จบเพียงเท่านี้ จากรายงานปี 2014 พบว่าภายในปี 2050 ประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นจากเดิม 2.1 องศาเซลเซียส และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตโกโก้
ในปัจจุบันเหล่าบริษัทผู้ผลิตก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขากำลังหาทางแก้ร่วมกันในการทำให้โกโก้สามารถผลิตได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่นั่นก็เป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น สิ่งสำคัญคือสภาพอากาศโดยรวมที่กำลังย่ำแย่ ฉะนั้นถ้าเราไม่อยากจะหงุดหงิดง่ายเพราะอดกินช็อคโกแลตรสโปรด ก็ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้โลกของเราเหมาะสำหรับต้นโกโก้อีกครั้งนั่นเอง