ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 6 เดือน ปรับครึ่งแสน "สนธิญา" หมิ่น "เสรีพิศุทธิ์" รอลงอาญา 2 ปี ยกฟ้องแจ้งเอกสารเท็จ
ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.1114/2564 ที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร.และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
กรณีเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 นานสนธิญา จำเลย ได้ยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวหาว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 326 และ 328 และนับโทษต่อจากหมายเลขดำ อ.590/2563 ของศาลแขวงดุสิต เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.และทั่วราชอาณาจักร ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาหมิ่นประมาท ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างการพิจารณา จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลสั่งสืบเสาะก่อนมีคำพิพากษา
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 ว่า จำเลยมีความผิดฐานแจ้งเอกสารเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จำคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานการสืบเสาะแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่นายสนธิญาไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเลื่อนมาฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันนี้ โดยช่วงเช้า นายสนธิญา พร้อมทนายความ เดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด ส่วนโจทก์มีเสมียนทนายความมาฟังคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่า จำเลยกระทำผิดในลักษณะเดียวกันแบบซ้ำซาก โดยไม่ยำเกรงกฎหมาย จำเลยไม่พยายามบรรเทาผลร้ายแก่โจทก์ จำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน เห็นว่า แม้ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 326 อันเป็นความผิดในลักษณะเดียวกับคดีนี้ แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ในคดีดังกล่าว ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับคดีนี้ เมื่อพิจารณารายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว จำเลยให้ถ้อยคำว่าสำนึกผิดในการกระทำและจะทำหนังสือถึงทุกหน่วยงานที่จำเลยเคยร้องเรียนโจทก์ โดยจะเผยแพร่ข่าวผ่านแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กและไลน์ส่วนตัว และแจ้งไปยังสำนักงานข่าวทุกสำนักเพื่อชี้แจงและกล่าวขอโทษโจทก์ ทั้งจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับโจทก์ทุกเรื่อง ซึ่งเป็นการแสดงออกโดยชัดแจ้งว่าจำเลยยำเกรงกฎหมายและสำนึกในการกระทำผิดของตน การที่จำเลยให้การรับสารภาพก่อนสืบพยานโจทก์ จึงไม่ใช่การรับสารภาพเพราะจำนวนต่อหลักฐาน แต่เป็นกรณีที่จำเลยลุแก่โทษอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 วรรคสอง ประกอบกับจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน
ศาลชั้นต้นรอการลงโทษ จึงเป็นดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรลงโทษจำคุกจำเลย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น อนึ่งที่ศาลยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ต่อมาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องเห็นสมควรยกฟ้อง และที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 มาด้วยนั้นไม่ถูก เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับตามมาตรา 326 อีก นอกจากนี้ที่แก้ให้ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภายหลัง นายสนธิญาบอกว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแก้ให้ยกฟ้องมาตรา 137 ที่โจทก์ฟ้องว่าตนนำเอกสารเท็จมาแจ้งต่อระบบราชการ นอกนั้นแล้วศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าตนไม่ได้โกรธเคือง แต่มีความเคารพนับถือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ส่วนจะฎีกาคดีอีกหรือไม่ก็อยู่ที่ฝ่ายโจทก์ ซึ่งตนเองมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม