ทางออกหรือทางตันการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
เมื่อต้นเดือน พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว คลังสั่งการให้พิจารณา - ศึกษาการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ สอดคล้องกับคำปราศรัยของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2566 ณ ศาลาหลังเก่า จ.อุบลราชธานี
ความตอนหนึ่งว่า "เงินเดือนข้าราชการเริ่มต้น 25,000 บาท เอาไหมคะ ข้าราชการทั้งหลาย เงินเดือนขึ้นเริ่มต้น 25,000 บาท ถ้าขึ้นทุกตำแหน่งอีก 70% เงินเดือนที่จะขึ้นแบบนี้ต่ไป เอาหรือไม่คะ"
ในประเด็นนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ระบุว่า การปรับฐานเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจคนเก่งมีความรู้ความสามารถให้เข้าสู่ระบบข้าราชการ
ผู้เขียนเห็นว่า ความคิดดังกล่าวมองผิวเผินเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ดี การปรับฐานเงินเดือนบุคลากรภาครัฐมีประเด็นสำคัญหลายด้านที่สมควรต้องพิจารณา
ประการแรก นโยบายประบฐานค่าจ้าง/เงินเดือนขั้นต่ำ มิได้นึกถึงผลกระทบด้านเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรหรือแรงงานนอกระบบอื่น ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อาทิ พ่อค้าแม่ค้า พ่อค้าหาบไข่ปิ้ง แม่ค้าส้มตำไก่ย่าง คนซ่อมรองเท้า คนเก็บขยะ ฯลฯ ที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้ในแต่ละวันว่าเท่ากับกี่บาทกี่สตางค์
กล่าวคือ ราคาพืชผลทางการเกษตรและรายได้ของคนหาเช้ากินค่ำเหล่านี้ มิได้ปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางของค่าจ้าง/เงินเดือน รวมถึงราคาสินค้าและบริการที่จะทะยานสูงขึ้น คนกลุ่มนี้ที่ปกติมีชีวิตที่ยากลำบากอยู่แล้วจึงได้รับผลกระทบจากนโยบานนี้อย่างรุนแรง
ประการถัดมา การแก้กฎหมายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานกับการเพิ่มฐานเงินเดือนข้าราชการ ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้
เพราะค่าแรงขั้นต่ำเป็นหนึ่งในวิธีการแทรกแซง ที่ภาครัฐของนานาอารยประเทศใช้ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่ไม่มีอำนาจในการต่อรอง ให้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุนจนเกินไป เป็นการปกป้องคนงานจากค่่จ้างที่ต่ำจนเกินไป
นั่นคือ เป็นการแก้กฎหมายเพื่อช่วยให้แรงงานได้รับส่วนแบ่งผลแห่งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างยุติธรรม โดยไม่ได้ส่งผลต่อเนื่องถึงภาวะการคลังของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ