เสียชีวิตตอนอายุ120ปี
"ระบุไว้ว่า เสียชีวิตเมื่ออายุ 120 ปี"
ผมเดินทางไปอำเภอนาเชือก จ.มหาสารคาม ตามคำชักขวนจากพระครูตาน้อย วัดหนองแวงพระอารามหลวง จ.ขอนแก่น เพราะอยากเห็นศิลปะฝีมือชาวบ้านอีสานที่เป็นแบบพื้นถิ่นจริงๆในอดีต ศิลปะและโบราณสถานที่ยังไม่มีใครเข้าไปศึกษาและสนใจ
อำเภอกุดรัง นาดูน นาเชือก บรบือ ถือว่าเป็นอำเภอที่ยังคงหลงเหลือศิลปะโบราณสถานแบบชาวบ้านที่คนเข้าไปศึกษายังไม่ถึงอยู่เยอะมาก
เมื่อมาถึงสิมที่วัดหนองเลา ต.หนองเม็ก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ที่วัดนี้มีสิมโบราณ และบริเวณรอบๆกำแพงวัดยังมีธาตุบรรจุอัฐิเก่าๆศิลปะญวน อยู่จำนวนหลายธาตุตั้งเรียงรายในโพงหญ้า มีธาตุอยู่หลังหนึ่งหน้าสนใจมาก
ระบุจารึกไว้ข้างธาตุว่า
"อนุสาวรีย์ บรรจุอัฐิของแม่ใหญ่ตื๋อ มรณะเมื่อ พ.ศ. 2493
อายุ 120 ปี และนายพรมมา ประดิษ ผู้เป็นบุตร มรณะ พ.ศ.2497 อายุ 56 ปี"
สิ่งที่น่าสนใจคือการเสียชีวิตเมื่ออายุ 120 ปี แต่คุณยายตื๋อ ไม่มีชื่อใน 100 คนไทยที่อายุยืนที่สุด พระหม่อมที่พาผมไปยังบอกอีกว่า ยังมีธาตุอัฐิคุณยายอีกคนเสียชีวิตเมื่ออายุ 130 ปี แต่อยู่คนละที่ ถ้ามีโอกาสผมจะเดินทางไป ตัวเลขอายุเทียบเท่าพอๆกับกินเนสบุ๊คโลกบันทึกเอาไว้ แต่คนเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักและเสียชีวิตไปนานแล้วเมื่อ 70 ปีก่อน
หลักฐานชิ้นนี้แสดงว่า คนอีสานที่เกิดในช่วง ร.4 ส่วนใหญ่นั้นอายุยืนมากเมื่อเทียบกับคนรุ่นหลัง
บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วญวนมาเกี่ยวข้องอะไรกับคนอีสาน ในช่วงปี พ.ศ. 2490 ชาวเวียดนามหนีภัยสงครามเวียดนาม - ฝรั่งเศส หรือที่เรียกว่าสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 เข้ามาในอีสานมาก โดยเฉพาะที่นครพนม และกระจายสู่อีสาน ที่เข้ามาก่อนหน้านี้ก็มี เข้ามาเพราะรับจ้างปั้นปูน จนบางหมู่บ้านมีร้านค้าญวน ชาวเวียดนามหรือที่เราเรียกว่าญวนมีความสามารถในการปั้นปูน มีภูมิปัญญาในการผลิตปูน ตั้งร้านค้าขายปูนและรับจ้างปั้นปูนต่างๆ เช่น สร้างสิม จนสิมอีสานในหลายที่เป็นศิลปะญวน รับจ้างปั้นธาตุ จนเกิดวลีที่ว่า "แกวปั้นธาตุ" และในหมู่บ้านหนองเลานี้ก็ยังมีร้านค้าญวนหลงเหลืออยู่เป็นลักษณะห้องแถวไม้ แต่ไม่มีคนอยู่แล้ว ผมถ่ายรูปไม่ทันค่ำก่อน ซึ่งคนญวนหรือบ้างก็เรียกว่า "แกว" ก็ผสมผสานในเผ่าพันธุ์อีสานกันไปในปัจจุบันจนแยกไม่ออก
สิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นศิลปะญวนอย่างชัดเจนในภาพนี้คือ นกยุงที่ปั้นไว้ข้างธาตุนั้น เป็นนกยุงแบบศิลปะญวน ความเชื่อของคนโบราณในเอเซียบูรพาที่นับถือพุทธศาสนา จะเชื่อว่า นกยุง คือสัตว์ที่เฝ้าประตูสวรรค์ จึงนิยมมาปั้นใส่ธาตุ เพราะจะนำผู้ตายเข้าสู่ประตูสวรรค์
การเดินทางครั้งนี้ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมายซึ่งจะนำมาเขียนเล่าเป็นความรู้แบ่งปันในโพสต์ต่อไปครับ
สุภิวัฒน์ ชุมยางสิม
22ส.ค.2562