ราชกิจจาฯประกาศ กฎ ก.พ. 2566 กำหนดเหลือ 4 โรค ห้ามรับราชการ
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎ ก.พ.ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2566 กำหนด 4 โรคต้องห้าม ในการรับราชการ เป็นข้าราชการพลเรือน ต้องมีวิธีการตรวจตามหลักเกณฑ์ เพื่อไม่ให้เป็นเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ระบุชัดมีกลุ่ม “โรคเรื้อรัง” รวมอยู่ด้วย
วันที่ 18 สิงหาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ กฎ ก.พ.ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2566 ลงนามโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.พ.
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (5) และมาตรา 36 ข. (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ. โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีจึงออกกฎ ก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎ ก.พ. นี้ เรียกว่า “กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ.2566”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553
ข้อ 3 กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 4 โรคตามมาตรา 36 ข. (2) ประกอบด้วย
(1) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
(2) โรคติดยาเสพติดให้โทษ
(3) โรคพิษสุราเรื้อรัง
(4) โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
ข้อ 5 วิธีการตรวจโรคตามข้อ 4 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการแพทย์ ของ ก.พ. กำหนด
สำหรับ เหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.พ. ฉบับนี้ ระบุว่า โดยที่ปัจจุบันมีโรคเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ทั้งโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ ซึ่งโรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของข้าราชการ ประกอบกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 บังคับใช้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จึงอาจมีความไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์โรคในปัจจุบัน
ดังนั้น เพื่อให้ทางราชการได้มาและรักษาไว้ซึ่งบุคคลที่เป็นผู้มีสุขภาพทางกายและจิตเหมาะสม และไม่เป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน รวมทั้งกำหนดให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจร่างกายและจิตใจ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.พ. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโรคเริ้อรังตาม(4) เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือเรียกชื่อภาษาอังกฤษสั้น ๆ ว่า โรค NCDs ซึ่งคนไทยเป็นกันมาก โดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากขึ้น เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตามกลุ่มโรคเรื้อรังนี้ เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรค และไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสหรือการหายใจ แต่เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมของคนเรา และต้องมีการรักษาเป็นระยะเวลานาน ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น
สำหรับกลุ่มโรค NCDs นี้ที่รู้จักกันดี ประกอบด้วย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็ง เป็นต้น
อนึ่ง ก.พ. ย่อมาจาก คำว่า "คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน"