วิโรจน์ เสนอ เงินดิจิทัล 10,000 บาท หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะรับไว้พิจารณา
‘วิโรจน์’ เสนอ เงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันทุนใหญ่ ไม่ให้ฉวยโอกาส ตั้งจุดจำหน่ายสินค้า (Kiosk) ชั่วคราว 6 เดือน ตั้งตู้ขายสินค้า เอารถโมบายล์เข้าไปขายสินค้าตามชุมชน หมู่บ้าน สูบเงินจากชุมชนเข้าสู่กระเป๋าเจ้าสัว ที่ส่วนกลาง ทำลายโชห่วย ร้านขายของชำของคนตัวเล็กตัวน้อยทั่วประเทศ แฉ นายทุนค้าปลีกผูกขาดหลายราย กำลังวางแผนในลักษณะนี้ เพื่อดูดเอาเม็ดเงินแผ่นดิน 560,000 ล้าน เข้ากระเป๋าให้มากที่สุด
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
“[ ข้อเสนอแนะต่อเงินดิจิทัล 10,000 บาท ]
ก่อนอื่นต้องก่อนว่า ผมไม่ได้เห็นแย้งกับมาตรการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แบบสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะเข้าใจว่าน่าจะสามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้ ไม่มากก็น้อย เพียงแต่อยากเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อให้เงินแผ่นดินก้อนมหาศาล 560,000 ล้านบาท ก้อนนี้ ถูกใช้จ่ายเพื่อประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
มีรอบหมุนในการใช้จ่าย มีตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) และ Marginal propensity to Consume ในระดับที่สูง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมหภาคที่ลงไปถึงประชาชน ไม่ใช่ถูกนายทุนค้าปลีกผูกขาดสูบเอาไป
ผมเข้าใจว่า ในเรื่องรัศมี 4 กม. รัฐบาลคงจะมีการทบทวนให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ต่างๆ ในเร็ววันนี้ ด้วยความที่เป็นเงินดิจิทัล การกำหนดรัศมีที่แตกต่างกัน ในการใช้จ่ายในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ด้วยเทคโนโลยี นั้นทำได้อยู่แล้วครับ ไม่ใช่ปัญหา
แต่อย่างไรก็ตาม ผมยังเห็นว่า ยังมีอีกหลายประเด็น ที่รัฐบาลต้องพิจารณาป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงขออนุญาตรวบรวมข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้ครับ
1. รัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ทุนใหญ่ฉวยโอกาส ตั้งจุดจำหน่ายสินค้า (Kiosk) ชั่วคราว 6 เดือน ตั้งตู้ขายสินค้า เอารถโมบายล์เข้าไปขายสินค้าตามชุมชน หมู่บ้าน สูบเงินจากชุมชนเข้าสู่กระเป๋าเจ้าสัว ที่ส่วนกลาง ทำลายโชห่วย ร้านขายของชำของคนตัวเล็กตัวน้อยทั่วประเทศ ผมรับทราบมาว่า ตอนนี้นายทุนค้าปลีกผูกขาดหลายราย กำลังวางแผนในลักษณะนี้ เพื่อดูดเอาเม็ดเงินแผ่นดิน 560,000 ล้าน เข้ากระเป๋าให้ได้มากที่สุด
2. รัฐบาลต้องพิจารณาออกแบบระบบ เพื่อให้ระยะเวลาที่ใช้ในการจ่ายเงิน มีความรวดเร็วต่อการใช้จ่ายเงิน
3. รัฐบาลต้องมีมาตรการในการป้องกันการตั้งราคาสินค้าที่แตกต่างกัน (Price Discrimination) เช่น ถ้าจ่ายด้วยเงินดิจิทัล จะต้องจ่ายแพงกว่าเงินสด เป็นต้น
4. รัฐบาลจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อ อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่อาจจะแพงขึ้น การอ่อนตัวลงของค่าเงินบาท และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมไม่ให้ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนในระยะยาว
5. รัฐบาลควรมีข้อตกลงที่ชัดเจนกับร้านค้า เกี่ยวกับหน้าที่ในการจ่ายภาษีต่างๆ จากรายได้ที่ได้มาจากเงินดิจิทัล เพื่อให้ร้านค้าต่างๆ วางแผนภาษีแต่แรก เพื่อป้องกันไม่มีข้อพิพาทกับรัฐในภายหลัง
6. รัฐบาลควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการรับแลกเงินดิจิทัล เป็นเงินสด โดยหักส่วนลดเพื่อทำกำไร สุดท้ายเงินดิจิทัล จะไม่ถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการบริโภคตามวัตถุประสงค์สำคัญของนโยบายนี้ แต่จะถูกนำไปแลกเงินสดแทน เช่น ถ้าเอาเงินดิจิทัล 10,000 บาท มาแลกที่ร้านนี้ โดยไม่ซื้อสินค้า จะแลกได้ 7,000 บาท เป็นต้น
7. มีมาตรการป้องกัน มิให้มิจฉาชีพ และแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ เอา "เงินดิจิทัล" มาเป็นอุบายฉ้อโกงประชาชน เช่น การข่มขู่หลอกประชาชนว่าเอาเงินดิจิทัลไปใช้อย่างผิดกฎหมาย การหลอกประชาชนว่าสามารถทำให้เงินดิจิทัลใช้ได้เกินกว่ารัศมี 4 กม. ได้ การหลอกประชาชนให้นำเอาเงินดิจิทัลไปลงทุนเพื่อให้งอกเงยได้ เป็นต้น
8. รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อประคับประคองประชาชนในกลุ่มเปราะบางควบคู่กับนโยบายเงินดิจิทัล ไปด้วย อาทิ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงจากโครงสร้างค่าไฟฟ้า และนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชนที่ไม่เป็นธรรม การส่งเสริม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และป้องกันไม่ให้ SMEs ถูกดึงเช็คจากลูกค้ารายใหญ่ การจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก และการอุดหนุนทางการศึกษาให้กับกลุ่มนักเรียนยากจน เป็นต้น