วันนี้ "ยานอวกาศจันทรายาน-3" ของอินเดีย ทำอะไรอยู่บนดวงจันทร์?
ยานอวกาศ "จันทรายาน-3" (Chandrayaan-3) ที่ "องค์กรวิจัยด้านอวกาศของอินเดีย" (Indian Space Research Organization - ISRO) ส่งไปดวงจันทร์ โดยเดินทางออกจากโลกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2023 ประสบความสำเร็จ ลงจอดลงบนพื้นที่แถบขั้วใต้ของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายแรกของภารกิจที่ว่าต้องไปให้ถึงดวงจันทร์แล้ว หน้าที่ต่อไปที่จะต้องทำมีอะไรบ้างมาดูกันค่ะ ก่อนอื่นมารู้จักความเป็นมาของ "จันทรายาน-3" กันสักนิด
"จันทรายาน" เป็นชื่อยานอวกาศของอินเดียที่มีจุดมุ่งหมายคือการไปให้ถึงดวงจันทร์ กว่าที่ "จันทรายาน-3" จะประสบความสำเร็จในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มจาก เมื่อปี 2008 อินเดียได้ส่ง "จันทรายาน-1" ขึ้นไปสำรวจรอบดวงจันทร์ อีก 11 ปีต่อมา ปี 2019 จึงส่ง "จันทรายาน-2" ไปดวงจันทร์ เป้าหมายครั้งนี้ไม่ใช่แค่สำรวจ แต่คือการไปให้ถึงพื้นผิวดวงจันทร์ แต่ก่อนจะถึงพื้นผิวดวงจันทร์เพียงแค่ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เกิดความผิดพลาดยานไม่สามารถค่อย ๆ ลดความเร็วลงจนถึงเป้าหมายได้ตามที่นักวิทยาศาสตร์คำนวณไว้ แต่เกิดอุบัติเหตุตกลงไปอย่างรุนแรงจนใช้การไม่ได้ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่รัสเซียเคยส่งยานลูนา-25 (Luna-25)ไป แต่ไม่ประสบความสำเร็จมาแล้วเพราะไม่ได้ลงจอดอย่างที่ควรเป็นแต่เป็นการพุ่งชนดวงจันทร์ ISRO ของอินเดียไม่ย่อท้อได้นำความผิดพลาดในครั้งนั้นมาพัฒนาเป็น "จันทรายาน-3" และสามารถลงสู่พื้นผิวขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ภาพพื้นผิวดวงจันทร์
"จันทรายาน-3" มีตัวยานที่ใช้สำรวจเป็นรถสำรวจชื่อ "ปรัชญาน" (Pragyan) ถูกปล่อยจากยานลงจอด "วิกรม" (Vikram) ภารกิจหลักคือสิ่งที่ "จันทรายาน-3" ต้องทำเมื่อไปถึงขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จคือ "สำรวจพื้นผิว" ซึ่งพื้นผิวบริเวณขั้วใต้นี้เต็มไปด้วยน้ำแข็ง ภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาซึ่งทำให้การจอดยานเป็นเรื่องยากและท้าทายมาก แต่ก่อนที่ยานจะลงจอดนั้นได้ใช้ภาพถ่ายจากกล้องตรวจจับเพื่อหลีกเลี่ยงก้อนหินหรือบริเวณที่ลึกเกินไป เพื่อให้ยานลงจอดได้อย่างปลอดภัย
สิ่งที่ "จันทรายาน-3" สำรวจอยู่ในเวลานี้ก็คือ "น้ำแข็ง" บนดวงจันทร์นั้นเมื่อละลายเป็นน้ำแล้วสามารถดื่มได้ไหม? และเมื่อนำน้ำไปแยกโมเลกุลจะได้ไฮโดรเจนสำหรับผลิตเชื้อเพลิง และออกซิเจนสำหรับการหายใจตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดการไว้ไหม? เพราะหากเป็นไปได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เป้าหมายหลักขององค์กรทางด้านอวกาศจากทุกประเทศทั่วโลกก็คือการตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ เพื่อสะสมพลังงานสำหรับการใช้เดินทางต่อไปยังดาวอังคารและดาวดวงอื่น ๆ เป็นประโยชน์มาก ๆ สำหรับการเดินทางในอวกาศ และการสำรวจตรวจว่าทรัพยากรบนดวงจันทร์มีอะไรบ้างและจะนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะนั่นจะบ่งบอกได้ว่าเป็นไปได้แค่ไหนที่ในอนาคตมนุษย์จะไปอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ได้!
รถสำรวจชื่อ "ปรัชญาน" จะทำการสำรวจด้วยระยะเวลา 2 สัปดาห์ (โลก) หรือ 1 วัน (ดวงจันทร์) 3 ภาพด้านบนเป็นภาพวันที่ 30 สิงหาคม 2023 ของปรัชญาน ที่ถ่ายจากรถนำทาง ผลการสำรวจจากปรัชญานจะถูกส่งมาทาง ISRO เป็นระยะ ๆ และต้องรอการสรุปต่อไปว่าสิ่งที่ "จันทรายาน-3" สำรวจพบมีอะไรบ้าง และมีความสำคัญต่อมนุษยชาติอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไปค่ะ และสามารถติดตามข่าวแบบวันต่อวันได้ทาง
IG :: isro.in และ chandrayan_3
facebook :: ISRO - Indian Space Research Organisation
twitter :: https://twitter.com/isro
ขอบคุณภาพจาก isro