พลับพลึงธาร พืชน้ำที่ใกล้สูญพันธุ์
พลับพลึงธาร พืชที่ใกล้สูญพันธุ์และหายากที่สุดในโลก แต่เหลือเชื่อตอนนี้มันอยู่ประเทศไทยที่เดียวในโลกแล้ว พลับพลึงธาร หรือ หอมน้ำ (Onion plant, Thai onion plant,Water onion) เป็นพืชน้ำเฉพาะถิ่นชนิดหนึ่ง โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crinumthaianum อยู่ในวงศ์พลับพลึง (Amaryllidaceae) ชื่อเรียกในท้องถิ่นคือ “หัวหญ้าช้อง” แต่ไม่ค่อยนิยมเรียกกันมากนัก เนื่องจากพลับพลึงธาร มีดอกคล้ายกับพลับพลึง จึงถูกเรียกชื่อนี้เสมอมา พลับพลึงธารมีความงดงามและหายากมากที่สุด พบขึ้นอยู่อย่างกระจัดกระจายแต่เพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น จึงถูกขึ้นเป็นบัญชีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี ค.ศ. 2011
ปัจจัยหลักที่ทำให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ การเก็บหัวจำหน่ายเป็นพืชน้ำประดับ และการขุดลอกคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม สำหรับพื้นที่ที่ทำให้พลับพลึงธารมีอัตราการเจริญเติบโตได้ดีคือ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีพังงานั่นเอง โดยเมื่อวันที่ 27 เม.ย.65 นายสุพจน์ ภู่รัตนโอภา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) มอบหมายให้ นายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีพังงา และเจ้าหน้าที่ ร่วมต้อนรับ นายจีรศักดิ์ ชูความดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ในโอกาสลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมติดตามประเมินผลโครงการฟื้นฟูพลับพลึงธาร พืชอาศัยถิ่นเดียวในโลกที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่ จ.พังงา ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประจำปีงบประมาณ 65 จากนั้น ได้ร่วมกันปลูกต้นพลับพลึงธาร บริเวณคลองโตนจิก ท้องที่บ้านห้วยทรัพย์ หมู่ที่ 6 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา และตรวจเยี่ยมเรือนเพาะชำพลับพลึงธาร บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติศรีพังงาที่ ศง.1 (น้ำตกสวนใหม่)
ในปัจจุบันพลับพลึงธารยังมิได้ถูกบรรจุในบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และไม่ได้รับการการคุ้มครองภายใต้กฎหมายใดๆในประเทศไทย และแม่น้ำลำคลองที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพลับพลึงธาร ก็ยังไม่มีกฎหมายใดใด ให้การคุ้มครอง
ปัจจุบันระดับพื้นที่ชุมชน และกลุ่มอนุรักษ์ ได้มีกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟู รวมถึงกฏระเบียบต่างๆ เช่น ชมรมเพลินไพรศรีนาคา, กลุ่มอนุรักษ์บ้านนายทุย, กลุ่มอนุรักษ์บ้านห้วยทรัพย์, กลุ่มอนุรักษ์คลองบางปรุ และกลุ่มอนุรักษ์บ้านบางซอย พลับพลึงธารบ้านบางวัน เป็นต้น ภายใต้การสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำอันดามันตอนบน ดังนั้นเราจึงควรใช้โอกาสนี้ในการร่วมกันอนุรักษ์และรักษาให้คงอยู่ต่อไป











