ป.ป.ช. ยืดเวลายื่นบัญชี ทรัพย์สินและหนี้สิน
นาย "นิวัติไชย เกษมมงคล" รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า "ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโควิด19 ยังคงทวีความรุนแรง และ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564
ได้กำหนดมาตรการลด และ จำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง โดยให้ประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และ เข้มงวด เลี่ยง จำกัด หรือ งดเว้นภารกิจ ที่ต้องเดินทางออกนอกเคหะสถาน หรือ ที่พำนักโดยไม่จำเป็น รวมถึงได้กำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ โดยให้หัวหน้าส่วนราชการ และ หน่วยงาน ของรัฐ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากร ในความรับผิดชอบดำเนินมาตรการ ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน และ มุ่งเน้นการปฏิบัติงาน หรือ จัดกิจกรรมโดยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนและจำกัด การเคลื่อนย้ายเดินทางของบุคคล...
ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ พิจารณาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อีกทั้งตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564
ซึ่งกำหนดให้บรรดามาตรการ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติดังกล่าว ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องออกไปจนถึง วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นั้น... คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ได้พิจารณาสถานการณ์ของการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโควิด รวมทั้งมาตรการข้อห้าม และ ข้อปฏิบัติต่างๆของรัฐ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวแล้ว
ซึ่งเห็นว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน ย่อมส่งผลกระทบต่อเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนของการรวบรวมเอกสารหลักฐาน เกี่ยวกับทรัพย์สินที่อาจไม่สามารถขอจาก หน่วยงานของรัฐ ธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน
เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ มีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ในที่พักอาศัยหรือภาคเอกชนปิดให้บริการ และ ในส่วนของการเดินทาง ไปติดต่อขอเอกสารหลักฐานเพื่อนำมาใช้ เป็นเอกสารประกอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงการเดินทางไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ซึ่งหากจะต้องดำเนินการดังกล่าว ย่อมเป็นการไม่สอดคล้องกับมาตรการ ข้อห้าม และ ข้อปฏิบัติของรัฐ ที่ต้องการให้ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค และ การเคลื่อนย้ายเดินทางของบุคคล อันเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า "กรณีดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ทำให้ผู้ยื่นบัญชี ไม่สามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ ภายในกำหนดระยะเวลา จึงมีมติเป็นแนวทางการพิจารณา กรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐที่มีหน้าที่ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินผู้ใด ซึ่งครบกำหนดระยะเวลา ตามกฎหมายที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน (ภายในเวลา 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ มีหน้าที่ยื่นบัญชี หรือ ครบกำหนดตามที่มีการอนุญาต โดยให้ขยายระยะเวลา ในการยื่นบัญชีไว้แล้ว) ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564"
ถึงแม้ครบกำหนดระยะเวลาแล้ว เจ้าพนักงานของรัฐดังกล่าว ยังไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ก็ยังไม่ถือว่ามีพฤติการณ์จงใจ ไม่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน...
อ้างอิงจาก: https://www.nacc.go.th/?