นักวิจัยเจาะเข้าความฝันคนที่หลับได้
ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิทยาศาสตร์ พยายามที่จะสื่อสารกับผู้ที่ มีการนอนหลับแบบ "เรมสลีพ" และ พยายามสื่อสารด้วยสิ่งเร้า เช่น แสงไฟ เสียง และอื่นๆ เพื่อพยายามเข้าสู่ความฝัน แต่ผลการตอบสนองไม่ดีเท่าที่ควร
จนกระทั่งล่าสุดในปี 2021 นี้ ทีมนักวิจัยอิสระ 4 ทีม จากประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และ อเมริกา ได้พัฒนาและสร้างการสื่อสาร 2 ทางที่ซับซ้อน โดยใช้การพูดและถามคำถาม ที่ผู้ฝันไม่เคยได้ยินมาก่อน พวกเขาได้คัดเลือกอาสาสมัคร 36 คน ซึ่งมีทั้งคนที่เคยฝันแบบ "ลูซิด ดรีมอิ้ง" และ ผู้ที่ไม่เคยฝันลักษณะนี้มาก่อน สามารถจำความฝันได้อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ มาเข้าร่วมรับการทดลองด้วย
ในขณะที่ผู้เข้าร่วมการทดลองนอนหลับ นักวิทยาศาสตร์จะตรวจสอบ การทำงานของคลื่นสมอง การเคลื่อนของดวงตา และการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า ผู้เข้าร่วมการทดลองเข้าสู่ช่วงการนอนแบบ "อาร์อีเอ็ม" โดยใช้หมวกคลื่นสมอง ซึ่งจากการทดลองทั้งหมด 57 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมการทดลองถึง 6 คน สามารถตอบสนอง กับนักวิจัยขณะหลับได้
ขณะทดลองนักวิจัย ได้ทดลองถามคำถามแบบง่ายๆ ประเภทคำตอบที่ว่าใช่หรือไม่ใช่ รวมทั้งโจทย์คณิตศาสตร์ เช่น 8-6 =? ซึ่งในการตอบคำถาม ผู้ฝันจะใช้วิธีการส่งสัญญาณ เช่น การยิ้ม การขมวดคิ้ว หรือ การขยิบตาหลายๆครั้ง เพื่อตอบคำถาม คล้ายกับการส่งรหัสมอร์ส ซึ่งจากคำถามทั้งหมด 158 คำถาม พบว่าผู้ฝัน ตอบสนองได้อย่างถูกต้องถึง 18.6 % ผิดเพียง 3.2 % อีก 17.7 % ได้คำตอบไม่ชัดเจน และ 60.8 % ไม่ได้รับการตอบ
หลังเสร็จสิ้นการทดลอง พบว่าผู้ฝันบางคน ตื่นขึ้นมาโดยที่ยังจำได้ว่า คำถามนั้นถูกผนวกเข้าเป็น ส่วนหนึ่งของความฝัน เช่น ผู้ฝันคนหนึ่งเล่าว่า "ขณะที่ฝันอยู่ ผมได้ยินโจทย์คณิตศาสตร์ ออกมาจากวิทยุในรถยนต์"
การทดลองในครั้งนี้ นักวิจัยก็หวังว่า "วิธีนี้จะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษา อาการบาดเจ็บภายในจิตใจ ความเครียด และ ภาวะซึมเศร้าให้ดีขึ้นได้"
ที่มา: https://www.independent.co.uk