ประกันสังคมย้ำสิทธิลูกจ้างผู้ประกันตน ที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกได้เงินทดแทนว่างงาน3เดือน
ประกันสังคมย้ำสิทธิลูกจ้างผู้ประกันตน ม.33ที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกได้เงินทดแทนว่างงาน3เดือน ส่วนผู้ประกันตน ม.40 ได้สิทธิตามเงินจ่ายสมทบ
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 กรณีถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน จะได้สิทธิประกันว่างงานจะได้เงินทดแทนว่างงานปีละไม่เกิน 90วันหรือ30%ของเงินเดือน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา40ได้สิทธิตามเงินจ่ายสมทบ
7 มิถุนายน 2562-นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยว่า ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับการดูแลในกรณีถูกเลิกจ้าง หรือต้องลาออกจากงานไม่มีงานทำ โดยเฉพาะผู้ที่ประกันตนมาตรา 33 ทางประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์ส่วนหนึ่งที่เราเรียกว่า การประกันการว่างงาน ซึ่งผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน คิดเป็นสัดส่วน ลูกจ้าง 5% + นายจ้าง 5% + รัฐบาล 2.75% ของฐานเงินค่าจ้าง
ถ้ากรณีถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50% ของเงินเดือน กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30% ของเงินเดือน
“ผู้ประกันตนจะต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างานที่สำนักงานจัดหางาน หรือขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์กรมจัดหางานภายใน 30 วัน นับจากวันที่ลาออก จากนั้นก็ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน สปส. 201/7 พร้อมเอกสาร คือ บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ณ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ และจะต้องรายงานตัวผ่านระบบเดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน”
นอกจากนี้ เมื่อผู้ที่ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน กรณีออกจากงาน ยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต หากผู้ประกันตนด้วยตนเองภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ออกจากงาน ซึ่งผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมต่อไปรวม 6 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, ตายไม่เนื่องจากการทำงาน, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ โดยผู้ประกันตนจะนำส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท และมาตรา 40
ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 มี 3 ทางเลือก คือ 1.ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพ 2. ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ และเงินบำเหน็จชราภาพ 3. ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร
สำหรับใครที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ถูกเลิกจ้าง จ้างออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง ตกงาน อย่าวิตกกังวล รีบไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ได้จากสำนักงานประกันสังคม หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วน 1506 เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวทิ้งท้าย

















