#กาลามสูตร10 กับ #สังคมออนไลน์
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใครจะพูดก็พูดไปเราก็ฟังไป อย่าไปว่าหรือค้านเขา
แต่ #อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องพิจารณาดูก่อนว่า
• ถูกหรือผิด
• เป็นบุญหรือเป็นบาป
• เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์
พระสูตรนี้มีที่มาจาก ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จไปยังเกสปุตตนิคม อันเป็นที่อยู่ของชาวกาลามโคตร ชาวบ้านได้ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งนั้น มีทั้งพวกที่ไม่เชื่อบุญก็มี ไม่เชื่อบาปก็มี พวกที่ไม่นับถือศาสนาก็มี นับถือพุทธศาสนาก็มี นับถือศาสนาอื่นก็มี สงสัยก็มี ไม่สงสัยก็มี
พระองค์จึงให้พระสูตรที่สำคัญสูตรหนึ่ง นั้นก็คือ กาลามสูตร เพื่อให้เป็นหลักแห่งเหตุ และผล ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณ-โทษ หรือดี-ไม่ดี ก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการ ได้แก่
1. อย่าเพิ่งเชื่อ โดยฟังตามๆ กันมา
2. อย่าเพิ่งเชื่อ โดยถือว่าเป็นของเก่า เล่าสืบๆ กันมา
3. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเป็นข่าวเล่าลือ
4. อย่าเพิ่งเชื่อ โดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
5. อย่าเพิ่งเชื่อ โดยคิดเดาเอาเอง
6. อย่าเพิ่งเชื่อ โดยคาดคะเน อนุมานเอา
7. อย่าเพิ่งเชื่อ โดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
8. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
9. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะผู้พูดควรเชื่อได้
10. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
ในปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ และนักคิดต่างๆ ได้สรรเสริญพระพุทธศาสนาในแง่ของ หลักแห่งการมีเหตุ มีผล และสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์
ดังนั้น กาลามสูตรจึงเป็นพระสูตรที่ให้อิสระในด้านความคิด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เราเชื่อ แต่ให้พิจารณาให้ดีเสียก่อน แล้วจึงค่อยเชื่อ อย่าเชื่อโดยฟังตามๆ กันมา แม้แต่พระคัมภีร์ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ให้พิจารณา ดูเสียก่อน ไม่เชื่ออะไรอย่างไร้เหตุผล โดยไม่พิจารณาว่าควรเชื่อ หรือไม่เพียงไร
#หยุดโกหกบนอินเตอร์เน็ต #StopOnLies