ข้อคิดเห็น: อะไรคือเบื้องหลังความเฟื่องฟูของพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน
บทความ โดย Erin Newport
© Greenpeace / Zhiyong Fu
อุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของประเทศจีนนั้นถูกวางโครงการไว้ว่าจะขยายตัวเพิ่ม 5 เท่า ภายในปี 2573 โดยจะแทนที่แหล่งพลังงานฟอสซิลเทียบเท่ากับประมาณ 300 ล้านตันของมาตรฐานปริมาณถ่านหิน และจะสามารถประหยัดน้ำได้มากเทียบเท่ากับความต้องการของคน 200 ล้านคน ตามรายงานล่าสุด
แต่กระนั้นการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานของจีนยังคงไม่สิ้นสุด
ปริมาณการใช้พลังงานถ่านหินของจีนตกลงเป็นเวลา 3 ปี อย่างต่อเนื่อง และส่วนแบ่งของพลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 13 เมื่อปีที่แล้ว สงสัยหรือไม่ว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์นี้?
1. ศักยภาพในการลงทุน
ในปี 2558 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของจีนนั้นมากถึง 0.31 ล้านล้านหยวน ของ GDP ประเทศจีน ตัวเลขนี้คาดว่าจะกระโดดขึ้นสูงถึง 1.57 ล้านล้านหยวนภายในปี 2573 หรือประมาณร้อยละ 1.1 ของ GDP ประเทศจีน ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างปี 2559-2573 มีการคาดการณ์ว่าพลังงานลมและแสงอาทิตย์นั้นจะเรียกเงินลงทุนได้มากถึง 5.4 ล้านล้านหยวน หรือมากกว่า 750 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน
2. เครือข่ายสายส่งที่ดี
ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ รัฐบาลของจีนได้ทุ่มเททรัพยากรไปกับการต่อกรกับปัญหาขาดแคลนพลังงาน ระหว่างปี 2556-2558 รัฐบาลได้ใช้งบประมาณทั้งหมด 24.78 พันล้านหยวนในการขยายให้ไฟฟ้าเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น
ขณะที่มีเพียงร้อยละ 16.5 ของเงินที่ใช้ไปกับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์นอกสายส่ง แต่เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์นั้นมีอัตราส่วนมากถึงร้อยละ 43.4 ในการเข้าถึงไฟฟ้าในประเทศจีนในช่วงปีดังกล่าว
สำหรับประเทศจีน พลังงานแสงอาทิตย์นอกสายส่งได้แสดงให้เห็นว่าเป็นวิธีที่คุ้มค่าที่สุดในการแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงาน และประสบการณ์ของจีนนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศอื่นทั่วโลก
3. เพิ่มงานอีกครึ่งล้าน
ในปี 2558 อุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของจีนนั้นได้สร้างงานโดยตรงเพิ่มขึ้นให้กับประชาชนราว 450,000 คน ภายในปี 2573 ตัวเลขนี้ถูกตั้งเป้าไว้ว่าจะกระโดดขึ้นอีก 4 เท่า หรือราว 2.4 ล้านคน ในทางเดียวกัน ตัวเลขของการจ้างงานทางอ้อม (เช่น การขนส่ง และการผลิตวัตถุดิบ) ก็ถูกตั้งไว้ว่าจะทวีคูณเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านตำแหน่งในปี 2558 เป็น 5.3 ล้านตำแหน่งในปี 2573
นั่นหมายความว่า ภายในปี 2573 อุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของจีนจะสร้างงานให้กับคนราว 7.7 ล้านคน หรือมากกว่าประชากรประเทศไอร์แลนด์ (ซึ่งมีน้อยกว่า 5 ล้านคน)
4. ผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
การแทนที่พลังงานถ่านหินด้วยพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ปล่อยมลพิษนั้นสร้างผลประโยชน์ทางการเงินได้ใหญ่หลวง
ในรายงานของกรีนพีซเอเชียตะวันออกยังพบว่า ปี 2558 พลังงานลมและแสงอาทิตย์ของจีนนั้นเพิ่มจำนวนเงินราว 0.16 หยวน กิโลวัตต์ชั่วโมง(kWh) ในด้านการให้ผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การลดการปล่อยมลพิษ และการลดค่าใช้จ่ายสุขภาพสาธารณะ
ภายในปี 2573 มูลค่าผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมภายนอกจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของจีน คาดว่าจะเหยียบ 0.3 หยวน ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง(kWh) ซึ่งหมายความว่าผลลัพธ์ของการเปลี่ยนจากพลังงานจากฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนนั้นจะเพิ่มขึ้นราว 456 พันล้านหยวน (66พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)
5. วิกฤตน้ำ
เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีนนั้นใช้น้ำจำนวนมหาศาล และเป็นน้ำที่มาจากบริเวณแหล่งน้ำที่หายาก จึงทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินอาจเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งในทางตอนเหนือของจีน
ในปี 2558 การพัฒนาพลังงานลมและแสงอาทิตย์นั้นลดการใช้น้ำไปได้ราว 0.57 พันล้านลูกบาศก์เมตร และภายในปี 2573 มีการคาดการณ์ว่าพลังงานลมและแสงอาทิตย์จะช่วยประหยัดน้ำได้มากถึง 3.6 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือเทียบเท่ากับความต้องการน้ำพื้นฐานของคนจำนวน 200 ล้านคน
พลังงานลมและแสงอาทิตย์ช่วยให้ภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนประหยัดน้ำได้มากถึง 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หาแหล่งน้ำได้ยากที่สุดของจีน
บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่
ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/59240